เลขาธิการ คปภ. ติวเข้มตัวแทนประกันชีวิตทั่วประเทศรับมือกติกาใหม่ แนะเร่งยกระดับมาตรฐานคุณภาพการขายประกันบนพื้นฐานของจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาคณะกรรมการสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินทั่วประเทศ ประจำปี 2563 โดยมีนายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวต้อนรับ และนางบงกช บวรฤกษ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน ร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และคณะกรรมการสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินจากทั่วประเทศ จำนวน 350 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคี ยกระดับจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ทางวิชาการ พัฒนาความสามารถในด้านต่างๆ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมแซนด์ ดูนส์ เจ้าหลาว บีช รีสอร์ท จังหวัดจันทบุรี รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ณ หน่วยสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำ ภายในอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้มอบนโยบายที่สำคัญต่อการยกระดับมาตรฐานพฤติกรรมทางการตลาดของธุรกิจประกันภัย โดยกล่าวว่า จากนโยบายการยกระดับมาตรฐานพฤติกรรมทางการตลาดของธุรกิจประกันภัย โดยการพัฒนาช่องทางการจำหน่าย ส่งเสริมและกำกับดูแลให้ตัวแทนประกันภัย นายหน้าประกันภัยมีมาตรฐานจรรยาบรรณและแนวทางปฏิบัติที่ดีในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่อประชาชน ตลอดจนดูแลประชาชนผู้เอาประกันภัยภายหลังที่มีการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย ส่งผลให้การพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
สำนักงาน คปภ. ได้มีการดำเนินการเพื่อยกระดับการให้บริการและพฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความเข้มข้นในการกำกับดูแลคนกลางประกันภัย ซึ่งเป็นช่องทางที่สำคัญในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต โดยได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 โดยในส่วนของตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิตมีการปรับปรุงเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติ กรณีที่ถือเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิตทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อวางมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิตให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งการปรับปรุงเกี่ยวกับมาตรการลงโทษ โดยเพิ่มมาตรการในการพักใช้ใบอนุญาต รวมทั้งโทษปรับและจำคุก เพื่อให้มีมาตรการลงโทษที่เหมาะสม และได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ซึ่งการให้บริการออกใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันภัย และนายหน้าประกันภัย เป็นอีกหนึ่งบริการของสำนักงาน คปภ. มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการรับรองมาตรฐานการให้บริการ ISO 9001 จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (Management System Certification Institute (Thailand) : MASCI) โดยมีการตรวจติดตามประเมินผลจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ.ได้เข้ารับการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program – FSAP) สาขาประกันภัยจาก World Bank ซึ่งผลการประเมินพบว่า สำนักงาน คปภ.มีการกำกับคนกลางประกันภัยที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยทางผู้ประเมินได้ทำการประเมินการกำกับคนกลางประกันภัยสำหรับมาตรฐาน ICP 18 (Intermediaries) และ ICP 19 (Conduct of Business) ซึ่งผลปรากฏว่า ผ่านการประเมินระดับ Largely Observed (LO) ทั้งสองข้อ ถือว่าได้รับการประเมินในระดับที่ดีมาก
“สำนักงาน คปภ. ขอชื่นชมคณะกรรมการสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน ที่เล็งเห็นความสำคัญของการเสริมสร้างความสามัคคีของบุคลากรประกันชีวิตระหว่างภาครัฐ เอกชน และตัวแทนประกันชีวิตซึ่งเป็นผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดประชาชน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนแนวความคิดและเรียนรู้ร่วมกัน โดยในส่วนของตัวแทนประกันชีวิต ถือเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ ทัศนคติที่ดีให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัย ดังนั้น ตัวแทนประกันชีวิต จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ของตัวเองให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ เรียนรู้เทคโนโลยีและนำมาใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างมาตรฐานการทำงานให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล บนพื้นฐานของจรรยาบรรณวิชาชีพ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัยไทย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย