ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้ามุ่งสู่การเป็น Zero-Carbon Organization ได้รับผลคะแนนในระดับ A- (Leadership Level) ด้านการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากดัชนีชี้วัดด้านความยั่งยืน Carbon Disclosure Project (CDP) ประจำปี 2562 เป็นธนาคารแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย เดินหน้าปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการต่อเนื่อง พร้อมเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานในองค์กร
ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานบนรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน โดยธนาคารให้ความสำคัญในการร่วมผลักดันการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่มีความรุนแรงมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement – COP 21) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งธนาคารมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวผ่านการขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมุ่งสู่การเป็นสังคมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์เป็นศูนย์ในระยะยาว
โดยธนาคารได้เพิ่มนโยบายด้านการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งปรับนโยบายการดำเนินงานของธนาคาร และการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่เป็นมิตรและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนขึ้น ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2563 (จากปีฐาน 2555) มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ (Environmental Management System – EMS) ดำเนินการวัดผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาสในการดำเนินงานที่เกี่ยวกับ Climate Change รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี ธนาคารวัดประสิทธิภาพของการดำเนินงานด้านการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการเข้าร่วมประเมินดัชนีชี้วัดความยั่งยืน Carbon Disclosure Project (CDP) เพื่อเทียบเคียงผลการดำเนินงานและนำมาพัฒนาการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการประเมินผลดัชนีชี้วัดความยั่งยืน Carbon Disclosure Project (CDP) ประจำปี 2562 ด้านการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระดับ A- (Leadership Level) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 บริษัทที่ได้คะแนนสูงสุดของประเทศไทย และเป็นธนาคารไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่ได้คะแนน A- ด้าน Climate Change สะท้อนมาตรฐานการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมในระดับสากล สอดคล้องกับการที่ธนาคารให้ความสำคัญในการปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการต่าง ๆ รวมทั้งเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานในองค์กรให้มีความสนใจต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้นยังร่วมสนับสนุนการฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในปีนี้ธนาคารจะดำเนินงานตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการจัดการขยะ ลดการใช้พลาสติก ลดการใช้พลังงานและทรัพยากรอื่นๆ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน