Q : ข้อแนะนำการเลือกซื้อประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 มีอย่างไรบ้าง?
A : ปกติแต่ละบุคคลมีความเสี่ยงภัยแตกต่างกันออกไป ให้พิจารณาเลือกซื้อความคุ้มครองตามความเสี่ยงภัยของตนเอง และการประกันภัยนี้จะเหมาะสมกับบุคคลที่มีแผนจะฉีดวัคซีนโควิด-19
Q : การประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 ของแต่ละบริษัทประกันภัยให้ความคุ้มครองเหมือนหรือต่างกัน อย่างไร ?
A : การประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 ของแต่ละบริษัทอาจเหมือนหรือแตกต่างกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขความคุ้มครอง ขณะนี้ มีความคุ้มครองพื้นฐาน เมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเกิดผลกระทบหรือแพ้วัคซีนโควิด-19 บริษัทฯ จะให้ความคุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างตามเงื่อนไขกรมธรรม์ฯ ดังนี้
1) ผลประโยชน์กรณีเกิดเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า/ภาวะร้ายแรง
2) ค่ารักษาพยาบาล กรณีต้องเข้ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน
3) ผลประโยชน์เงินชดเชยปลอบขวัญสำหรับผู้ป่วยใน
4) ผลประโยชน์เงินชดเชยรายวัน กรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน
5) ผลประโยชน์การแพ้วัคซีนโควิด-19
6) ค่ารักษาพยาบาล กรณีต้องรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยนอก
Q : การประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 โดยทั่วไป มีข้อยกเว้น อะไรบ้าง ?
A: บริษัทฯ จะไม่ให้ความคุ้มครองการแพ้วัคซีนโควิด-19 ที่เป็นผลมาจากวัคซีนที่ไม่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
Q : เบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ เท่าไร ?
A : เบี้ยประกันภัยจะขึ้นกับความคุ้มครองและวงเงินคุ้มครอง (แผนความคุ้มครอง) ที่เลือกซื้อ โดยปัจจุบัน เบี้ยประกันภัยจะอยู่ตั้งแต่หลักสิบ จนถึง ไม่เกิน 1,000 บาท
Q : การประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 จะให้คุ้มครองวัคซีนทุกยี่ห้อ หรือไม่ ?
A : บริษัทฯ จะให้ความคุ้มครองการแพ้วัคซีนโควิด-19 ทุกยี่ห้อที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
Q : การประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 จะเริ่มให้คุ้มครองทันทีหรือไม่ ?
A : หากมีการทำประกันภัยแล้ว ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองทันที แต่ไม่รวมถึงการแพ้วัคซีนโควิด-19 ที่เกิดขึ้นก่อนการซื้อประกันภัย
Q : ถ้าต้องเข้ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน จากการแพ้วัคซีนโควิด-19 โดยมีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และความคุ้มครองเงินชดเชยกรณีเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่าด้วย เข้ารักษาพยาบาลได้ระยะหนึ่งแล้ว ต่อมา การแพ้วัคซีนทำให้เกิดเจ็บป่วยเข้าสู่ภาวะโคม่า ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองทั้งสองส่วน หรือไม่ ?
A: ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินชดเชย ทั้งในส่วนของค่ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ตามที่เกิดขึ้นจริง และเงินชดเชยกรณีเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า ตามจำนวนเงินที่ซื้อไว้ ทั้งนี้ ความคุ้มครองจะเป็นไปตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ฯ
Q : ถ้าต้องเข้ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน จากการแพ้วัคซีนโควิด-19 โดยมีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล เป็นผู้ป่วยใน และความคุ้มครองเงินชดเชยรายวันกรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในด้วย ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองทั้งสองส่วน หรือไม่ ?
A : ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองทั้งค่ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ตามที่เกิดขึ้นจริง และเงินชดเชยรายวัน ตามจำนวนเงินต่อวันและจำนวนวันซื้อไว้ ทั้งนี้ เงื่อนไขความคุ้มครองจะเป็นไปตามระบุไว้ในกรมธรรม์ฯ
Q : ถ้าต้องเข้ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน จากการแพ้วัคซีนโควิด-19 โดยมีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน และสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสวัสดิการภาครัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ ด้วย จะสามารถเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากประกันภัยได้อีก หรือไม่ ?
A : การประกันภัย จากการแพ้วัคซีนโควิด-19 จะจ่ายค่ารักษาพยาบาล ตามที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินที่ซื้อไว้ แต่หากใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสวัสดิการอื่นใดแล้ว การประกันภัยนี้จะชดใช้ให้เฉพาะค่ารักษาพยาบาลส่วนที่ขาดเท่านั้น
Q : ถ้าต้องเข้ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน จากการแพ้วัคซีนโควิด-19 โดยมีความคุ้มครองเงินชดเชยรายวันกรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน และสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสวัสดิการภาครัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ ด้วย จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัยได้อีก หรือไม่ ?
A : สวัสดิการอื่นใด ไม่เป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับความคุ้มครองเงินชดเชยรายวัน กรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินชดเชยรายวัน ตามจำนวนเงินต่อวันและจำนวนวันที่ซื้อไว้
Q : หากต้องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 จะต้องดำเนินการ อย่างไร ?
A : สามารถยื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ที่บริษัทฯ ที่ซื้อไว้ โดยมีหลักฐานตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ฯ โดยทั่วไปกำหนดหลักฐานที่ต้องยื่นประกอบ เช่น ใบรับรองหรือใบรายงานแพทย์ และ/หรือ ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการที่แสดงว่าแพ้วัคซีนโควิด-19
Q : มีบริษัทประกันภัยไหนบ้าง ที่ได้รับความเห็นชอบการประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 ไปแล้วและจัดแผนความคุ้มครองขายให้ประชาชนอยู่ในปัจจุบัน ?
A : บมจ. กรุงเทพประกันภัย บมจ.วิริยะประกันภัย บมจ.ทิพยประกันภัย และ บมจ. ไทยประกันภัย (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มีนาคม 2564)
Q : หากมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 สามารถติดต่อได้ ที่ไหน?
A: สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ เว็บไซต์ คปภ www.oic.or.th หรือติดต่อได้ที่สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งมีศูนย์ดูแลสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะ หรือสำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัดทั่วประเทศ หรือหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปที่ chatbot “คปภ. รอบรู้” (LINE@OICConnect)