คปภ. ลงพื้นที่ทันที เพื่อช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีไฟไหม้รถทัวร์เสียชีวิต 5 ราย ที่จังหวัดขอนแก่น เผยรถทัวร์โดยสารประจำทาง ทำประกันภัยภาคบังคับ และภาคสมัครใจประเภท 1 โดยระบบประกันภัย พร้อมเยียวผู้โดยสารที่เสียชีวิตทั้ง 5 ราย รวม 5.5 ล้านบาท
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถทัวร์โดยสารประจำทาง 2 ชั้น ของบริษัท 407 พัฒนาทัวร์ จำกัด ทะเบียน 10-7387 อุดรธานี เกิดอุบัติเหตุยางรถด้านหลังระเบิดและเพลิงลุกไหม้ บนถนนมิตรภาพ ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ขณะเดินทางจากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดบึงกาฬ ไปยังปลายทางสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้โดยสารรวมพนักงานรถ 34 ราย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ซึ่ง 2 ใน 5 ของผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก และบาดเจ็บ 29 ราย รวมทั้งรถทัวร์เสียหายทั้งคัน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 นั้น เบื้องต้น ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค
สำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดขอนแก่น ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดขอนแก่น ว่ารถทัวร์โดยสาร ทะเบียน 10-7387 อุดรธานี ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 10662-64301/กธ/E062232 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 31 มีนาคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุด ไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000 – 500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน และทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ไว้กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 10662-64301/กธ/011998-10 เริ่มคุ้มครองวันที่ 31 มีนาคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอก 500,000 บาทต่อคน แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 1,000,000 บาท คุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลกรณีสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร ของผู้ขับขี่/ผู้โดยสาร 32 คน (รย.01) 100,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาทต่อคน และประกันตัวผู้ขับขี่ 1,000,000 บาท
สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้โดยสารทั้ง 5 ราย อยู่ระหว่างการพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ประสานบริษัทประกันภัยดังกล่าว เร่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตโดยทันที หากการพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตแล้วเสร็จ ในเบื้องต้นครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าสินไหมทดแทน รายละ 1,100,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,500,000 บาท จากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละ 500,000 บาท รวม 2,500,000 บาท การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) รายละ 500,000 บาท รวม 2,500,000 บาท และแนบท้ายการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (รย.01) รายละ 100,000 บาท รวม 500,000 บาท โดยบริษัทประกันภัยพร้อมจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยทันที หากการพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตแต่ละรายแล้วเสร็จ สำหรับผู้บาดเจ็บ 29 ราย ขณะนี้นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสิรินธรจังหวัดขอนแก่น 5 ราย และโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น 5 ราย และอีก 19 ราย เดินทางกลับบ้านแล้ว ได้ประสานกับบริษัทประกันภัยเข้าไปอำนวยความสะดวกและรับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลโดยตรง โดยผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่ายเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติม ตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้อีกด้วย
“ผมขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและมีความห่วงใยต่อผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ พร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน โดยเฉพาะการเดินทางในช่วงวันหยุดยาว จึงขอให้ผู้ประกอบการตรวจสอบสภาพความพร้อมของรถ รวมทั้งเมาไม่ขับ ยึดกฎจราจร อย่างไรก็ตาม เพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย