เนื่องใน “วันช้างโลก” (12 สิงหาคม) องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เปิดตัวสื่อประชาสัมพันธ์ภายใต้แคมเปญ Elephants Not Entertainers มุ่งสร้างค่านิยมใหม่ของการท่องเที่ยวแบบไม่ทำร้ายช้าง พร้อมรณรงค์หยุดการนำช้างมาทำกิจกรรมสร้างความบันเทิง สอดรับกับความพยายามปรับปรุงสวัสดิภาพช้างอย่างเป็นระบบผ่านการยื่นร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย เข้าสู่รัฐสภา
นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “จุดประสงค์ของการเปิดตัวโฆษณารณรงค์ดังกล่าว เนื่องมาจากทุกวันนี้ในประเทศไทยมีช้างราวๆ 2,800 ตัวที่ถูกใช้ในกิจกรรมเพื่อความบันเทิง แต่เบื้องหลังที่นักท่องอาจไม่เคยรู้ คือ การพรากลูกช้างจากแม่ เพื่อนำมาฝึกตั้งแต่ยังเด็ก โดยช้างจะถูกบังคับ กักขัง ถูกขอสับซ้ำๆ ทั้งล่ามโช่ ทำร้าย ใช้งานหนัก เพื่อให้หวาดกลัวมนุษย์และเชื่องพอที่จะแสดงกิจกรรมที่ผิดธรรมชาติ การที่นักท่องเที่ยวร่วมชื่นชมการแสดงของช้างแสนรู้เป็นการสนับสนุนให้ช้างต้องถูกทรมานทางอ้อมโดยที่เราไม่รู้ตัว”
“องค์กรฯ มีเป้าหมายที่อยากเห็นช้างเลี้ยงรุ่นที่มีอยู่ในปัจจุบันได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด และไม่มีการผสมพันธุ์เชิงพาณิชย์อีก อยากเห็นช้างที่เป็นสัตว์ป่า ได้รับการปกป้องในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของพวกเขา ถ้าคุณรักช้าง ทุกคนต้องช่วยกันปกป้องพวกเขาให้ได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ แต่หากอยากเที่ยวอยากชมช้างจริงๆ แนะนำให้ศึกษาช้างในแหล่งธรรมชาติอย่างอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างซึ่งมีมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสูง”
โฆษณารณรงค์ชุดนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นเสียงสะท้อนสำหรับช้างเท่านั้น แต่ต้องการสร้างความตระหนักให้กับคนดูเห็นว่า เบื้องหลังของการแสดงช้างที่ดูน่ารักน่าเอ็นดู จริงๆ แล้วคือช้างเหล่านี้ต้องผ่านการฝึกอย่างหนักและทารุณเพื่อยุติสัญชาตญาณของสัตว์ป่าเพื่อให้ช้างเชื่องและหวาดกลัวพอที่จะออกแสดงโชว์ได้ และถ้าหากเรายังไม่หยุดสนับสนุนกิจกรรมมีเบื้องหลังโหดร้าย วงจรแห่งความทารุณนี้ก็จะสร้างความบอบช้ำไม่รู้จบ เพียงเพื่อแลกกับความบันเทิงชั่วคราวของนักท่องเที่ยว
นายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “ช้างเป็นสัตว์ป่า สมควรได้อยู่ในป่า ผลสำรวจของเราพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวในไทยเริ่มรับไม่ได้กับกิจกรรมที่เป็นการทำร้ายสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ยิ่งทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่สามารถเป็นที่พึ่งของช้างนี้ได้ เห็นได้จากข่าวเกี่ยวกับช้างตกงาน ถูกปล่อยกลับบ้าน และอดอยากมากมาย”
“เมื่อวิกฤติจากโควิด-19 บรรเทาลงแล้ว เรามองว่านี่เป็นโอกาสดีที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะหันมาปรับปรุงสวัสดิภาพช้างให้ดีขึ้น ให้สอดคล้องกับเทรนด์การท่องเที่ยวที่มุ่งไปสู่การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐเองก็ควรจริงจังกับเรื่องนี้มากขึ้นเช่นกัน ผ่านการออกกฎหมายและนโยบายที่ปกป้องสัตว์ป่าอย่างเป็นระบบ ถ้าทำได้จริง จะกลายเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคมโลกและนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย”
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตวแห่งโลก พร้อมภาคีเครือข่าย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ได้ร่วมผลักดันร่างพระราชบัญญัติปกป้องและคุ้มครองช้างไทย พ.ศ…. ซึ่งเป็นร่างกฎหมายฉบับแรกที่จะปกป้องช้างจากการทารุณกรรมช้างในทุกรูปแบบ ซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญอย่างการยุติผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ ยกระดับการจัดสวัสดิภาพช้าง ยุติการใช้กระบวนการฝึกช้างที่โหดร้ายทารุณ และไม่บังคับช้างให้แสดงพฤติกรรมที่ผิดธรรมชาติ เป็นต้น