วันที่ 18 สิงหาคม 2564 นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับรายงานผลการหารือระหว่างทูตเกษตร และทูตพาณิชย์ของไทยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบของจีนแล้ว โดยจีนจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ 50 แห่ง จาก 66 แห่ง ที่มีความถี่ในการตรวจพบศัตรูพืชค่อนข้างต่ำสามารถส่งออกลำไยไปจีนได้ และอนุญาตให้โรงคัดบรรจุอีก 6 แห่ง จาก 9 แห่ง ที่ไทยได้ระงับเองเป็นการชั่วคราวเมื่อเดือนมี.ค.2564 มีการปรับปรุงแก้ไขเป็นไปตามเงื่อนไขที่จีนกำหนด สามารถส่งออกได้เช่นเดียวกัน รวมแล้วจะมีโรงคัดบรรจุ 56 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปจีนในครั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา
ส่วนโรงคัดบรรจุที่เหลือ หากมีการปรับปรุงและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่มาตรการป้องกันควบคุมศัตรูพืชในลำไยส่งออกไปจีน ตามที่ฝ่ายไทยเสนอได้ ก็จะอนุญาตให้ส่งออกได้ในระยะต่อไป แต่การอนุญาตทั้งหมดนี้ ยังคงต้องได้รับการทดสอบในการตรวจสอบกักกันการนำเข้าที่จีนเหมือนเดิม และทางการจีนหวังว่าไทยจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ เพื่อรับประกันว่าจะไม่มีการปนเปื้อนศัตรูพืชตามที่จีนกังวลอีก
นางมัลลิกากล่าวว่า จากการอนุญาตให้ไทยกลับมาส่งออกได้ หลังจากที่เพิ่งระงับไปเพียงไม่กี่วัน ส่งผลให้การส่งออกลำไยของไทยไปจีน มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะผลผลิตลำไยของไทยมีตลาดรองรับที่แน่นอน ส่งผลดีต่อเกษตรกรที่ขณะนี้กำลังเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น จากการเข้ามารับซื้อของโรงคัดบรรจุและผู้ส่งออก ที่ต้องการนำลำไยไปส่งออกให้กับจีน
อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีก และให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการตรวจสอบอย่างเข้มงวดตามที่ได้เสนอฝ่ายจีนไป รวมทั้งให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เร่งทำแผนขยายตลาดให้กับสินค้าลำไยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันการส่งออกไปยังประเทศเป้าหมายอื่นๆ และให้กรมการค้าภายใน ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยตามมาตรการที่ได้ออกมาแล้ว ทั้งการดึงผู้ส่งออก ห้าง และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาช่วยรับซื้อไปกระจาย
สำหรับมาตรการที่กรมวิชาการเกษตรเสนอทางฝ่ายจีนไปมีสาระสำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงการจัดการที่สวนและการเก็บเกี่ยวให้มีการป้องกันกำจัดและคัดแยกลำไยที่มีเพลี้ยแป้งปะปนออก การปรับปรุงการจัดการที่โรงคัดบรรจุ โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ (QC) ทำหน้าที่ในการตรวจสอบศัตรูพืช มีการกำหนดจุดสุ่มตรวจศัตรูพืชเพิ่มขึ้น (รับสินค้า คัดแยก ก่อนรม หลังรม) การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น หลอดไฟส่องสว่างและอุปกรณ์ตรวจสอบศัตรูพืช ติดภาพศัตรูพืชที่ต้องคัดแยกหรือปฏิเสธการรับวัตถุดิบ รวมถึงมีพื้นที่ตรวจสอบศัตรูพืช เป็นต้น และการปรับปรุงการตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary certificate : PC) โดยการเพิ่มอัตราสุ่มจากเดิมร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 10 ในกลุ่มโรงคัดบรรจุ 66 ราย หากมีการตรวจพบศัตรูพืชกักกันครั้งที่ 1 จะระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเป็นระยะเวลา 7 วัน และหากมีการตรวจพบศัตรูพืชกักกันครั้งที่ 2 จะระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับโรงคัดบรรจุที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 66 ราย กรมวิชาการเกษตรจะเพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสินค้าเป็นระดับในอัตราร้อยละ 3, 5 และ 7 อย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169