ทีเซลส์ จับมือ วีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค เตรียมจัดงาน Bio Asia Pacific 2021 บนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ เชื่อมโยงงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และความร่วมมือ สู่การลงทุนด้านชีววิทยาศาสตร์ ผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมหลังวิกฤตโควิด-19
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS : Thailand Centre of Excellence for Life Sciences) ร่วมกับ วีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค (VNU ASIA PACIFIC) ประกาศความพร้อมจับมือหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เตรียมจัดงาน Bio Asia Pacific 2021 ระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน 2564 บนแพลตฟอร์มออนไลน์ Virtual Exhibition & Conference เต็มรูปแบบ ภายใต้แนวคิด From Recovery to Resilience After COVID-19 พบกับการประชุมสัมมนาและนิทรรศการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม การค้นคว้าวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์ในหลากหลายสาขา ร่วมเปิดมุมมองวิเคราะห์ทิศทางของอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในประเทศไทยหลังโควิด-19 จากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของไทยและนานาชาติ พร้อมกิจกรรมการนัดหมายเจรจาธุรกิจทางออนไลน์ เชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้ประกอบการ นักลงทุนและองค์กรชั้นนำของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค สร้างโอกาสขยายการลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ และการประกวดเฟ้นหาสุดยอดหุ่นยนต์ทางการแพทย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ต่อยอดเสริมศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังวิกฤตโควิด-19
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences Industry) ในประเทศไทยซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมยา (Pharmaceuticals) เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ (Medical Device and Equipment) เครื่องสำอาง-อาหารเสริม (Cosmetics and Food Supplement) และบริการสุขภาพ (Healthcare) มีมูลค่ามากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนมาจากความต้องการด้านการแพทย์และสุขภาพที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นตอนการค้นคว้าวิจัยจนถึงกระบวนการผลิต ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ได้กลายเป็นตัวเร่งให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ทั้งในด้านการค้นคว้าพัฒนาวัคซีน การผลิตยา นวัตกรรมเกี่ยวกับเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ทิศทางของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในประเทศไทยและของโลกมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ยังเป็นในหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตหรือ New S-Curve ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในประเทศมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ทีเซลส์ ได้เล็งเห็นโอกาสจากการเติบโตดังกล่าวและตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งด้านคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ จึงได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน จัดงาน Bio Asia Pacific 2021 ขึ้น ภายใต้แนวคิด From Recovery to Resilience After COVID-19 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ในทุกสาขาทั้ง Life Sciences, Bio Tech, Med Tech, Digital Health, Precision Medicine, Biopharma และ Smart Health Services เข้าสู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์ รองรับความต้องการของตลาดและมีส่วนในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติ หลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลาย รวมถึงมุ่งหวังขยายเครือข่ายความร่วมมือทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานวิจัยเพื่อเข้าสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก โดยการจัดงาน Bio Asia Pacific 2021 ในครั้งนี้ มีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การประชุมและสัมมนาออนไลน์ Virtual Conference โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของไทยและนานาชาติ กับหัวข้อการสัมมนาที่หลากหลายและครอบคลุม อาทิ Thailand’s Life Sciences Industry Outlook after COVID-19 ทิศทางของอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในประเทศไทย หลังโควิด-19, When Do We Get a First Shot of Homegrown COVID-19 Vaccines? วัคซีนโควิด-19 โดยคนไทย เราจะได้ฉีดเมื่อไร, Successful Development for mRNA Based Vaccines ความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีน mRNA, Life Sciences Industry: Pathway to Stock Exchange of Thailand อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ : เส้นทางสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, Advanced Technology & Personalized Medicine for Cancer เทคโนโลยีขั้นสูงและการรักษาโรคมะเร็งเฉพาะบุคคล, Roles of Investors to stimulate the Medical and Health Industry after COVID-19 บทบาทของนักลงทุนในการกระตุ้นอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพหลังโควิด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้จัดนิทรรศการในรูปแบบ Virtual Exhibition จากหน่วยงาน องค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัย อัปเดตเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับปัจจุบันและเตรียมพร้อมรองรับความต้องการในอนาคต ตลอดจนการจัดกิจกรรม Business Partnering และ Pitch & Partner เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการพบปะระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ Health-Tech Startups นักลงทุนและองค์กรธุรกิจ เพื่อประสานความร่วมมือด้านต่างๆ ที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ และเปิดโอกาสในการนำเสนอแนวคิดผลงานเพื่อแสวงหาแหล่งเงินทุนและพันธมิตรทางธุรกิจในการต่อยอดงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ รวมถึงการจัดงาน i-MEDBOT Innovation Contest 2021 การประกวดเฟ้นหาสุดยอดผลงานหุ่นยนต์ทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนวัตกรและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยในด้านการบริการทางแพทย์และสุขภาพอีกด้วย จากกิจกรรมทั้งหมดในงานครั้งนี้ เราเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดความร่วมมือและช่วยขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในประเทศและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“การจัดงาน Bio Asia Pacific 2021 ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET), สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (Pharmaceutical Research and Manufacturers Association: PReMA) เป็นต้น ทั้งนี้ จากการจัดงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่าน Virtual Exhibition & Conference อย่างเต็มรูปแบบในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะมีผู้ลงทะเบียน เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ตลอดระยะเวลา 3 วันของการจัดงาน” ดร.ศิรศักดิ์ กล่าว
ร่วมอัปเดตนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ พร้อมพบโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพครั้งสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ในงาน Bio Asia Pacific 2021 ระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน ศกนี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้แล้ววันนี้ ที่ www.bioasiapacific.com
สอบถามข้อมูลที่ info@bioasiapacific.com