กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ถอดรหัสความสำเร็จ Soft Power ของเกาหลีใต้ เตรียมนำปรับใช้ลุย Soft Power ไทย มั่นใจช่วยบูมอาหารไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย การท่องเที่ยวไทยได้เพิ่มขึ้น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้กรมฯ ศึกษาความสำเร็จของการขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับการขับเคลื่อน Soft Power ของไทย ที่ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนในปี 2565 โดยกรมฯ ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล ได้ทำการถอดรหัสความสำเร็จ Soft Power ของเกาหลีใต้ เพื่อนำมาปรับใช้กับการขับเคลื่อน Soft Power ของไทย ในการผลักดันผลงานภาพยนตร์ แอนิเมชัน และดิจิทัลคอนเทนต์ต่าง ๆ ของไทยออกสู่ตลาดโลก ซึ่งคาดว่าจะนำรายได้เข้าประเทศ ทั้งทางตรง และทางอ้อมจากการทำให้ต่างชาติรู้จักอาหาร ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของไทย
ทั้งนี้ การขับเคลื่อน Soft Power ของเกาหลีใต้ เกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีคิมแดจุง ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2541-2546 ได้ผลักดันใช้วัฒนธรรมเกาหลี ความเป็นเกาหลีควบคู่ไปกับการสร้างภาพลักษณ์ประเทศ สินค้าและบริการ ผ่านกระแส Korean wave และได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับจนทำให้เกาหลีใต้ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 11 ในการวัดดัชนี Soft power จากทั่วโลกในปี 2564 จากการส่งออกวัฒนธรรมในหลากหลายรูปแบบ เช่น ภาพยนตร์ ซีรีย์ เกมออนไลน์ และเพลง โดย Soft..Power ที่ประสบความสำเร็จ คือ สื่อและความบันเทิง ที่รู้จักกันภายใต้ชื่อ K-Drama เช่น Daejanggum, Autumn Fairy Tale, and Winter Sonata และได้พัฒนามาจนถึงวงการเพลง หรือ K-pop ที่มี ศิลปินชื่อดังมากมายทั่วโลก เช่น Psy, EXO, BTS, Blackpink เป็นต้น โดยสื่อประเภท K-Pop ได้รับความสนใจมากที่สุดถึง 53.3% ตามมาด้วยซีรีย์เกาหลี 32.2% ถัดมา คือ เครื่องสำอางและความงาม ที่ความนิยมมาจากวัฒนธรรม K-Pop ผ่านดารา นักร้อง ทำให้เครื่องสำอางเกาหลีเป็นที่ยอมรับและขยายการส่งออกไปทั่วโลก อาหาร ก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ เพราะถูกสอดแทรกเข้าไปในทุกสื่อผ่านละครหรือการพูดของดารานักร้อง และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เช่น หมูสามชั้นย่าง ต็อกป็อกกี ไก่ทอด จาจังมยอน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โซจูและกิมจิ เป็นต้น การท่องเที่ยว ก็ประสบความสำเร็จ เพราะได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ ซีรีส์ ทำให้สถานที่ถ่ายทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และสุดท้ายภาษาและวัฒนธรรม ที่ส่งผลให้คนทั่วโลกให้ความสนใจและเข้าใจในวัฒนธรรมและภาษาเกาหลีมากขึ้น
นายภูสิตกล่าวว่า จากการถอดรหัสดังกล่าว ทำให้มองเห็นว่า นโยบายส่งเสริม Soft power ของเกาหลีใต้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ GDP ของเกาหลีใต้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวของ GDP ของเกาหลีใต้ โดยในปี 2541 ก่อนเริ่มนโยบาย Hallyu Industry Support Development Plan ของรัฐบาลประธานาธิบดีคิมแดจุง ภาพรวมของ GDP เกาหลีใต้คิดเป็นมูลค่า 3.83 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2563 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.63 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในเวลา 20 กว่าปี และสัดส่วนของอุตสาหกรรมการบริการก็เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อเทียบกับปี 2553 สัดส่วนของ Services Trade ต่อ GDP เกาหลีใต้ อยู่ที่ร้อยละ 54.7 และเพิ่มเป็นร้อยละ 57.2 ในปี 2563
ดังนั้น การขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของไทย กรมฯ มั่นใจว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อน GDP
ของประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เช่นเดียวกัน เพราะปัจจุบันภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน และดิจิทัล
คอนเทนต์ของไทย ได้รับความนิยมในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น สามารถที่จะสอดแทรกความเป็นไทยเข้าไปทั้งอาหารไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น นาฎศิลป์ไทย มวยไทย การนวดแผนไทย สถานที่ท่องเที่ยว เทศกาลต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ เพื่อสร้างการรับรู้ และเพิ่มโอกาสให้สินค้าไทย บริการไทย และการท่องเที่ยวไทยได้เพิ่มขึ้น
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร.1169