กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเร่งขยายตลาดเป้าหมายการส่งออก และการดําเนินงานตามแผนงาน “อาหารไทย อาหารโลก” โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการส่งออกสินค้าของไทย เพิ่มสัดส่วนทางการตลาดของสินค้าไทยในตลาดโลก พร้อมส่งเสริมการค้าและการตลาดระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการดําเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างความเข็มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันอย่างยั่งยืน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แผนงานเพื่อส่งเสริมตลาดส่งออกของไทยในปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่าตัวเลขจะยังเป็นบวกต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนคือ การขยายตัวของเศรษฐกิจและการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ขยายตัว อีกทั้งคาดว่าความรุนแรงของโควิด-19 จะลดน้อยลง ทำให้อุปสรรคต่างๆ ลดลง โดยที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ยังคงดําเนินกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนบางกิจกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ การเข้าร่วมงาน Gulfood 2022 เมื่อวันที่ 13 – 17 กุมภาพันธ์ 2565 ณ Dubai World Trade Centre ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีผู้นำเข้าจากหลายประเทศทั่วโลกเดินทางมาร่วมงานจำนวนมาก อาทิ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน กาตาร์ อิรัก อิหร่าน และประเทศในทวีปแอฟริกา เป็นต้น
โดยได้อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานใน 2 รูปแบบ คือ เดินทางไปเข้าร่วมงานด้วยตนเอง หรือจัดส่งสินค้าไปร่วมแสดงภายในงาน และเจรจาธุรกิจในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ VDO Conference ที่เรียกว่า Mirror-Mirror โดยภาพรวมการเจรจาการค้ามีมูลค่าการสั่งซื้อรวมทั้งสิ้น 8,125 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าสั่งซื้อทันที 843 ล้านบาท และมูลค่าที่คาดว่าจะสั่งซื้อภายใน 1 ปีอีก 7,282 ล้านบาท
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลในรูปแบบออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องทางในการพบปะคู่ค้าในต่างประเทศ ซึ่งพบว่าประเทศที่เกิดการจับคู่เจรจาออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ ซาอุดีอาระเบีย โดยสินค้าที่ได้รับความสนใจมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ข้าว 2. ผลไม้ และ 3. อาหารกระป๋อง
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ความสำเร็จดังกล่าว มาจากที่ประเทศไทยมีการเปิดความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย พร้อมผลักดัน 7 มาตรการ เพื่อสร้างให้เกิดความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน โดยกิจกรรมที่ดำเนินการแล้ว ประกอบด้วย การเจรจาการค้าออนไลน์ร่วมกัน ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี โดยผู้นำเข้าให้ความสนใจจำนวนมาก หลังจากนี้จะมีการต่อยอดกิจกรรมดังกล่าวต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศซาอุดีอาระเบีย เช่น งานแสดงสินค้าอาหารและสินค้าฮาลาล (งาน SAUDI FOOD EXPO) ผ่านโครงการ SMEs Pro-active ระหว่างวันที่ 16 – 19 พฤษภาคม 2565
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย (In store – Promotion) สินค้าไทยร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในซาอุดีอาระเบีย เช่น ข้าว อาหารฮาลาล และผลไม้ เป็นต้น เพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าประเภทต่างๆ ทั้งสินค้าอาหาร, ฮาลาล, อุตสาหกรรม, ความงาม ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในซาอุดีอาระเบีย เช่น Facebook Instagram ตลอดจนการเชิญผู้นำเข้าจากซาอุดีอาระเบียเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในรูปแบบปกติ หรือในรูปแบบไฮบริด/ออนไลน์ เช่น งานแสดงสินค้า THAIFEX – ANUGA ASIA 2022 (24 – 28 พฤษภาคม 2565) งานแสดงสินค้า LOGISTIX 2022 (22-25 มิถุนายน 2565) งานแสดงสินค้าเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น 2565 (Bangkok RHVAC 2022) ซึ่งจัดพร้อมกับงานแสดงสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 2565 (Bangkok E&E 2022) (7-10 กันยายน 2565) และงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & Jewelry Fair (7-11 กันยายน 2565) ตลอดจนการจัดกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ด้านตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคเปิดกว้างทางวัฒนธรรมของซาอุดีอาระเบีย ภายใต้แนวคิด ” Saudi Vision 2030 ” และความสัมพันธ์ใหม่ ไทย – ซาอุดีอาระเบีย
นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นตลาดการค้าที่มีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยกระทรวงพาณิชย์ได้โฟกัสตลาดนี้เพิ่มเติมตั้งแต่ต้น เพราะถือเป็นประตูการค้านำสู่อีกหลายประเทศในภูมิภาค บวกกับนโยบายใหม่ของประเทศซาอุดีอาระเบีย Saudi Vision 2030 ที่เน้นเพิ่มการลงทุนมากขึ้น มุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยเพิ่มภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ ภาคการร่วมลงทุน ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าและกำลังการผลิตจำนวนมาก นั่นจึงเป็นโอกาสของประเทศไทย และผู้ประกอบการไทยที่จะขยายการลงทุน และการส่งออกไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียมากขึ้นจากนี้