ชวน ‘คุณครู’ จาก 18 โรงเรียนในพื้นที่ใกล้ 3 แหล่งน้ำสำคัญเมืองระยอง ร่วมเวิร์คชอปออกแบบห้องเรียนสิ่งแวดล้อมสะท้อนแนวคิด ‘การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง’
การดูแลรักษา ‘น้ำ’ ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแล ปกป้อง รักษาน้ำ เพื่อให้เราและคนรุ่นหลังสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างยั่งยืน เพราะ ‘น้ำ’ คือ สิ่งที่โอบอุ้มมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอีกมากมายมหาศาลบนโลกใบนี้
‘โครงการมิตซุยกุ’ เชื่อว่า ‘เด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่’ คือ กำลังสำคัญที่จะช่วยให้ภารกิจรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการปลุกพลังจากคนกลุ่มนี้ให้ลุกขึ้นมาลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดการจุดประกายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการส่งต่อองค์ความรู้ที่ถูกต้อง จึงเป็นที่มาของภารกิจมอบองค์ความรู้และจุดประกายเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและน้ำให้กับ ‘คุณครู’ จาก 18 โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้ 3 แหล่งน้ำในจังหวัดระยองผ่านกิจกรรม ‘เทรนด์ เดอะ เทรนเนอร์’ (Train the Trainers) ซึ่งเป็นภารกิจแรกของการดำเนินโครงการมิตซุยกุ ปี 2 ในพื้นที่จังหวัดระยอง
‘น้ำ’ คือ สิ่งที่เชื่อมโยงทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้
มีคำกล่าวที่ว่า ‘ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากการปลูกป่าในใจคน’ เช่นเดียวกันกับการสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรน้ำที่ต้องเริ่มจากข้างในของเราทุกคน ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตน้ำในหลากหลายมิติ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ในบางพื้นที่ต้องเจอกับภัยแล้งอย่างหนัก ในขณะที่บางพื้นที่ต้องรับมือกับปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นผิดฤดูกาล ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่ผลกระทบที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพียงอย่างเดียวแต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตน้ำในขณะนี้ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ มนุษย์เรานั่นเอง จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการดูแลรักษาน้ำและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องตระหนักถึงความสำคัญและพร้อมลงมือทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้เกิดขึ้นและคงอยู่อย่างยั่งยืน
นางสาวณัฏฐณิชา วรวรรณเศรษฐ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายสนับสนุนการบริหารงานในองค์กร ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทยและอินโดไชน่า เล่าถึงที่มาของภารกิจแรกภายใต้โครงการมิตซุยกุ ปี 2 ว่า “แนวคิดของโครงการมิตซุยกุ คือ ส่งเสริมและให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการอนุรักษ์น้ำและฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติให้กับเยาวชน โดยเน้นทั้งภาคทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติ ซึ่งนอกจากเด็กและเยาวชนแล้ว ‘คุณครู’ ในสถานศึกษา คือ กลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่มที่มีความสำคัญในการปลุกพลังรักษ์น้ำให้กับเด็กๆ ในระยองได้ จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรม Train the Trainers ชวนคุณครูระดับชั้นประถมศึกษาหลากหลายกลุ่มสาระจากโรงเรียนต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้ 3 แหล่งน้ำในจังหวัดระยอง มาเข้าร่วมกิจกรรม ณ ชายหาดแหลมสน อ.แกลง จ.ระยอง
โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ จุดประกาย ‘คุณครู’ ให้ตระหนักและรับรู้ถึงปัญหาและความสำคัญของน้ำและธรรมชาตินำไปสู่การ ‘ออกแบบห้องเรียนสิ่งแวดล้อม’ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้และแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียน สร้างเยาวชนต้นแบบที่เต็มไปด้วยจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมที่จะบอกต่อและผลักดันคนรอบข้างให้หันมาดูแลแหล่งน้ำและธรรมชาติในชุมชนของตนเอง”
นายธงชัย มั่นคง ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัยจังหวัดระยอง’ (RILA) เล่าว่า “ระยองได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองต้นแบบที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนจากการผนึกกำลังกันของภาครัฐและเอกชนผ่านโครงการเรียนรู้ต่างๆ จากการที่ระยองเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์อยู่มากมายหลายแห่งและเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยา อาทิ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาพืชและสัตว์ทะเลจังหวัดระยอง ป่าชายเลนชุมชนบ้านแสมภู่ (ทุ่งโปรงทอง) สวนพฤกษศาสตร์ระยอง และแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติเจดีย์กลางน้ำระยอง เป็นต้น เพราะเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งของผู้ผลิตห่วงโซ่อาหาร ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางธรรมชาติ อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของคนระยองอีกด้ว สถาบัน RILA จึงได้ริเริ่ม “ห้องเรียนสิ่งแวดล้อม” กับแนวคิด “การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” (Transformative Learning) โดยมีเป้าหมาย คือ การกระตุ้นให้คนระยองโดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่เกิดจิตสำนึกและความตระหนักในเรื่องการดูแลรักษาน้ำ พร้อมที่จะร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์น้ำและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยมีโจทย์สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลง”
“องค์ความรู้ที่คุณครูได้รับในวันนี้จะถูกนำไปพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ หรือ “ห้องเรียนสิ่งแวดล้อม” ในโครงการแหล่งเรียนรู้ พื้นที่ 3 ชุ่มน้ำเพื่อส่งต่อให้กับเด็กนักเรียนและคนในพื้นที่ตามวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาของสถาบัน RILA ที่ต้องการเป็นกลไกจังหวัดจัดการศึกษาด้วยตนเอง เพื่อตอบสนองความต้องการเชิงรุกในแง่การจัดการศึกษาที่สอดคล้องและตอบสนองกับชีวิตจริงและความเป็นจริงของบริบทชุมชนในพื้นที่จังหวัดระยอง ผลักดันให้เกิดการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคม และการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมและจรรโลงโลกของเรา” ผอ.ธงชัย อธิบายเสริม
“ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม” เครื่องมือการเรียนรู้ที่ทรงพลัง
สำหรับกิจกรรม Train the Trainers ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้คุณครูจากแต่ละโรงเรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้องค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำโดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมาร่วมเป็นวิทยากรแล้ว ยังเปิดให้คุณครูได้ร่วมกันระดมความคิดเกี่ยวกับการออกแบบห้องเรียนอย่างไรให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสนุก เน้นให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ ทักษะ และความรู้ใหม่ๆ ให้แก่กันและกัน เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาและ
ต่อยอดที่โรงเรียนของตนเอง ด้วยการรวมกลุ่มกับตัวแทนนักเรียนในโรงเรียนสร้างสรรค์ผลงานที่จะถ่ายทอดการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการรักษ์น้ำให้กับคนรอบข้างได้ ภายใต้แนวคิด ‘คืนสมดุลให้น้ำ คืนสมดุลให้โลก’ หรือ ‘Give Balance to the Water and the World’
“ในฐานะคนที่ทำงานทางด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาที่คลุกคลีกับการให้ความรู้แก่เด็กๆ เป็นหลัก การที่เราได้มีโอกาสมาเจอกับคุณครู ซึ่งเป็นหนึ่งในเบื้องหลังสำคัญในด้านการศึกษาถือเป็นโอกาสที่ดีมากๆ เลยครับ เพราะการได้มารวมตัวกันเพื่อแชร์ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนกันในเรื่องการสอนสิ่งแวดล้อมยังไงให้สนุก การสอนเรื่องน้ำอย่างไรให้เข้าไปอยู่ในจิตใจของนักเรียน การใช้ประสบการณ์ หรือสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญมาแชร์กันและนำไปต่อยอดให้เกิดผลเชิงบวก จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาและยกระดับเรื่องการศึกษานอกห้องเรียน การเรียนรู้ในพื้นที่จริง และการอนุรักษ์น้ำและทรัพยากรธรรมชาติได้มากขึ้นในหลายๆ มิติ” อเล็กซ์ เรนเดลล์ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ โดยเขาเชื่อว่าการต่อยอดของคุณครูจะนำไปสู่การสร้างเยาวชนต้นแบบที่เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของโครงการ เยาวชนต้นแบบคือ เยาวชนที่มีความรู้ที่ถูกต้องและตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เยาวชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการดูแลน้ำตั้งแต่ระดับท้องถิ่นและได้เห็นภาพในมุมมองที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้นเป็นการเรียนรู้เพื่อก่อให้เกิดจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ในระยะยาว นำไปสู่การสร้างความสมดุลให้กับทรัพยากรน้ำเพื่อให้น้ำสามารถที่จะอยู่ควบคู่กับมนุยษ์ได้อย่างยั่งยืน
ด้านคุณครูโบว์ – ณัฐสุดา บุญหงษ์ คุณครูจากโรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม จังหวัดระยอง หนึ่งในคุณครูที่ได้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ผู้เติบโตมากับพื้นที่แหล่งน้ำในจังหวัดระยอง ได้ให้นิยามกับ “แหล่งน้ำ” ในจังหวัดระยองว่าเปรียบ “น้ำ คือ วิถีชีวิต ของคนระยอง” เพราะทุกคนมีชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำตั้งแต่เกิด ในจังหวัดระยองมีแหล่งน้ำมากมายทั้งทะเล ป่าชายเลน พื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งน้ำทั้งหมดนั้นเป็นทั้งแหล่งอาชีพ แหล่งชีวิตของสิ่งมีชีวิต แหล่งอาหาร ที่มีความสัมพันธ์ต้องพึ่งพาอาศัยส่งผลต่อกันทั้งหมด การหวงแหนดูแลรักษาทรัพยากรน้ำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การหยิบยกเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลกมาสอนให้เด็กๆ ในชั้นเรียนได้เห็นและตระหนักถึงปัญหาของแหล่งน้ำ เห็นถึงความสำคัญของน้ำ นำไปสู่ความตั้งใจในการร่วมโครงการในครั้งนี้
“การเข้าร่วมโครงการ Train the Trainers ทำให้ตัวเราเองได้ตระหนักถึงคุณค่าของน้ำจริงๆ จากที่เราเคยมองว่าน้ำก็คือทรัพยากรอย่างหนึ่งที่มีให้เราใช้ได้อยู่ตลอดเวลา แต่พอมาเข้าร่วมโครงการก็ทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้ว “น้ำ” เป็นทรัพยากรที่ขาดแคลนได้ในวันข้างหน้าและมีความสำคัญต่อชีวิตของเรามากกว่าแค่การใช้เพื่อดำรงชีวิต การเข้าร่วมกิจกรรมทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์แหล่งน้ำที่หลากหลาย ผู้สอนไม่ได้บอกแค่เพียงปัญหาที่เกิดขึ้นกับหล่งน้ำ แต่ยังให้ความรู้ที่จะมีส่วนช่วยในการเรียนการสอนและถ่ายทอดต่อไปให้เด็กๆ ครูอยากจะนำความรู้ที่ได้ในวันนี้ไปต่อยอดโดยเริ่มจากการปรับพฤติกรรมเด็กๆ ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดแบบเดิมๆ การเรียนรู้นอกห้องเรียน การได้เรียนรู้ด้วยตัวเองจากประสบการณ์ที่เขาได้เจออย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดจิตสำนึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ จนอยากลงมือทำ อยากอนุรักษ์น้ำด้วยตัวเขาเอง” คุณครูโบว์ กล่าวทิ้งท้าย