นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม ผู้ประกอบการด้านการขนส่ง ห้างสรรพสินค้า แพลตฟอร์มค้าออนไลน์ และผู้ส่งออก เพื่อพิจารณามาตรการด้านการดูแลราคาผลไม้ที่กำลังจะออกสู่ตลาด ภายหลังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบนโยบายปรับเปลี่ยนมาตรการให้เหมาะสม จึงเป็นที่มาของการประชุมในครั้งนี้ และได้มีการปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยมีมาตรการที่จะนำมาใช้รวมทั้งสิ้น 5 มาตรการ
สำหรับ 5 มาตรการ ได้แก่
1. มาตรการด้านการผลิต จะมีการบริหารจัดการเรื่องแรงงานเก็บผลไม้ โดยจะมีการผ่อนผันการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขต แต่จะต้องมีการตรวจสุขภาพ การดูแลความเป็นธรรมเรื่องราคาและปริมาณ จะมีการใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเข้ามาควบคุม การส่งเสริมให้มีการทำคอนแทรกฟาร์มมิ่ง การส่งเสริมการซื้อขายผ่านสัญญาข้อตกลง การเชื่อมโยงการกระจายผลไม้ผ่านห้าง และการสนับสนุนกล่องบรรจุผลไม้ ขนาด 5 กิโลกรัม (กก.) 10 กก. และ 20 กก.
2. มาตรการด้านตลาดในประเทศ จะเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย และขอความร่วมมือไปรษณีย์ไทยมาช่วยในการจัดส่งผลไม้ โดยมีปริมาณฟรี 200 ตัน และอยู่ระหว่างหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มปริมาณขึ้นอีก การผลักดันให้นำผลไม้จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ การส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายผลไม้ทางช่องทางออนไลน์ การรณรงค์การบริโภคผลไม้ในประเทศ และส่งเสริมให้นำผลไม้มอบเป็นของฝากของขวัญ
3. มาตรการด้านตลาดต่างประเทศ จะเดินหน้าการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ทั้งระหว่างผู้ซื้อ ผู้นำเข้า กับผู้ประกอบการไทย หากทำได้ก็จะดำเนินการต่อ และจะเพิ่มการทำ Business Matching ในรูปแบบออนไลน์ให้มากขึ้น ซึ่งจะรวมถึงสินค้าตัวอื่นๆ ด้วย การประชาสัมพันธ์ผลไม้ในตลาดต่างประเทศจะยังคงเดินหน้าต่อ ทั้งรูปแบบเดิม คือ ผ่านห้างสรรพสินค้า การจัดโปรโมชั่นต่างๆ แต่จะเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ผ่านออนไลน์มากขึ้น และได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์เป็นเซลส์แมนขายผลไม้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด และช่วยดูในเรื่องการจัดหาสินค้านำเข้า เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งทางอากาศ เช่น มะม่วงที่ส่งไปเกาหลีใต้และญี่ปุ่น มีการคิดค่าบริการเต็มทั้งขาไป-กลับ ซึ่งมีการส่งสินค้าเฉพาะขาไป ทำให้ค่าระวางสูง จึงจำเป็นต้องแก้ไขให้มีการส่งสินค้าขากลับเข้ามาด้วย เพื่อลดต้นทุน
4. มาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ จะช่วยสนับสนุนดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่รวบรวมผลไม้ในอัตรา 3% ระยะเวลา 10 เดือน ชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่รวบรวมผลไม้เพื่อส่งออกในอัตรา 3% ระยะเวลา 6 เดือน และช่วยค่าใช้จ่ายรวบรวมเพื่อส่งออกอีกกก.ละ 3 บาท เป้าหมาย 1 หมื่นตัน
5. มาตรการเสริมศักยภาพการบริหารจัดการผลไม้ในเรื่องมาตรฐาน จะดำเนินการผลักดันให้มีการยอมรับมาตรฐานการตรวจสอบร่วมกัน หากผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานจากเซ็นทรัล แลป ของไทยแล้ว เมื่อส่งออกไปจีน จะไม่มีการตรวจสอบอีก จากเดิมที่ต้องมีการตรวจสอบซ้ำ โดยจะมีการสนับสนุนค่าตรวจสอบของแลปให้กับผู้ส่งออก เพื่อลดต้นทุนในการส่งออก
“ทั้ง 5 มาตรการนี้ เป็นมาตรการที่ได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเป็นการปรับมาตรการ เพื่อทำให้เกิดผลกระทบต่อผลไม้ของไทยน้อยที่สุด จากนี้จะเป็นการเร่งรัดการดำเนินการ เพราะผลไม้กำลังออกสู่ตลาด โดยจะมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่อไป” นายสรรเสริญกล่าว
นอกจากนี้ ยังได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแนวทางการบริหารจัดการการขนส่งผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวม 13 หน่วยงาน ได้แก่
กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงคมนาคม สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย สมาคมการค้าธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์ผสมผสาน สมาคมตัวแทนขนส่งทางอากาศไทย สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมผู้ประกอบการผักผลไม้ไทย บริษัท ไทยฟินเทค จำกัด และบริษัท แกร็บแท็กซี่ ประเทศไทย จำกัด
ทั้งนี้มีเป้าหมายหลักในการบูรณาการทำงานร่วมกันให้เบ็ดเสร็จและครบวงจร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการหาแนวทางบริหารจัดการการขนส่งผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ดังต่อไปนี้
1. ร่วมบูรณาการในทุกมิติ ทั้งด้านการขนส่งทางอากาศ ทางบก และทางเรือ ให้สามารถดำเนินการกระจายผลผลิตไปได้ 77 จังหวัด และนอกประเทศได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ
2. ร่วมบูรณาการเชื่อมต่อระบบการจัดส่ง (Delivery) ที่มีอยู่ในประเทศ และใช้แพลตฟอร์มหน่วยงานภาคเอกชนที่มีอยู่ บริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ทางด้านระบบการขนส่งเพื่อระบายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว และสร้างโอกาสที่จะขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น
3. หน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องคำนวณอัตราค่าระวาง (Freight Charge) และ/หรือค่าบริการต่างๆ ด้วยความเป็นธรรม พร้อมให้การสนับสนุนช่วยเหลือ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ และอำนวยความสะดวกอย่างเต็มกำลัง
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169