ธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารต่างชาติรายแรกที่ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งชาติเมียนมา ลงทุนในธนาคารพาณิชย์ของเมียนมา พร้อมเข้าร่วมลงทุนในธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์ ในสัดส่วน 35% ด้วยศักยภาพธนาคารท้องถิ่นท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่เติบโตเร็ว มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมมาให้บริการ มีเครือข่ายสาขา 18 แห่ง ครอบคลุมหัวเมืองหลัก ตั้งเป้าช่วยสร้างความหลากหลายในการให้บริการการเงิน เสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของเมียนมา พร้อมเชื่อมเครือข่ายธุรกิจและระบบชำระเงิน รองรับการให้บริการแก่ลูกค้าท้องถิ่น นักธุรกิจไทยและต่างชาติที่ขยายธุรกิจไปใน AEC+3
นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ในการขยายธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย เพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 ด้วยกลยุทธ์ Asset Light and Digital Expansion วันนี้ธนาคารกสิกรไทยได้รับข่าวดีจากการอนุมัติอย่างเป็นทางการโดยธนาคารกลางของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในการเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 35% ของธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์ (Ayeyarwaddy Farmers Development Bank – A bank) ซึ่งธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารต่างชาติรายแรกที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปลงทุนในธนาคารพาณิชย์ของเมียนมา
การร่วมลงทุนในธนาคารกับเอแบงค์ในครั้งนี้ เป็นรูปแบบการเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมาที่ใช้เงินลงทุนที่น้อยและมีประสิทธิผลกว่าการเข้าไปดำเนินธุรกิจในรูปแบบสาขาต่างประเทศและธนาคารท้องถิ่น โดยการเข้าไปร่วมลงทุนในเอแบงค์สามารถดำเนินธุรกิจได้ทันที และจะเป็นการต่อยอดศักยภาพของเอแบงก์ที่เป็นธนาคารท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่เติบโตเร็ว มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมมาให้บริการ มีความเข้าใจในทุกกลุ่มลูกค้าชาวเมียนมา กับจุดแข็งของธนาคารกสิกรไทย ที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำการให้บริการกลุ่มลูกค้าบุคคล กลุ่มเอสเอ็มอี การให้บริการดิจิทัลแบงกิ้งรวมถึงกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ มีบริการทางการเงินที่มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งนักลงทุนต่างชาติ (FDI) บรรษัทขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และลูกค้าบุคคลในประเทศเมียนมา ผ่านช่องทางสาขา 18 สาขา ครอบคลุมทุกเมืองหลักอาทิเช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เมียวดี เมาะลำไย (อิระวดี) รวมทั้งมีแผนกลยุทธ์ขยายธุรกิจดิจิทัลแบงกิ้งที่สามารถให้บริการทั้งกลุ่มลูกค้าปัจจุบันของธนาคารและกลุ่มลูกค้าอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยยึดมั่นในปรัชญา Beyond Banking ที่อยู่เคียงข้างลูกค้าช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคคลและธุรกิจแบบยั่งยืน
ทั้งนี้ เอแบงก์ ปัจจุบันมีสินทรัพย์ 314 พันล้านจ๊าด หรือ 6.4 พันล้านบาท มีทุนจดทะเบียน 40 พันล้านจ๊าด หรือ 820 ล้านบาท ก่อตั้งเมื่อปี 2557 เป็นธนาคารที่มีความเข้าใจความต้องการของลูกค้าบุคคลและธุรกิจเมียนมาในเชิงลึก มีวิสัยทัศน์และแนวทางการทำธุรกิจที่สอดคล้องกับธนาคารกสิกรไทย ในการผนึกกำลังเพื่อส่งมอบบริการที่ยั่งยืนให้แก่ชาวเมียนมาด้วยบริการทางการเงินที่มีความหลากหลายในประเทศเมียนมา โดยมีเป้าหมายสำคัญ ดังนี้
• การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไทยและเมียนมาผ่านการเป็นพันธมิตรและเครือข่ายของธนาคารกสิกรไทย เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจระหว่างประเทศและธนาคารเมียนมา
• การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าท้องถิ่นในเมียนมา เพื่อสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น (Financial Inclusion) ผ่านการพัฒนาโครงการซัพพลายเชนไฟแนนซ์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจท้องถิ่น อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ
• การขยายธุรกิจธนาคารดิจิทัล ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในส่วนของการพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น เพื่อครอบคลุมลูกค้าส่วนบุคคลทั่วประเทศ ซึ่งยังมีสัดส่วนในการเข้าถึงธนาคารค่อนข้างต่ำ รวมถึงธุรกิจรับชำระเงิน เพื่อตอบโจทย์การชำระสินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยลดภาระในการใช้และบริหารเงินสดในประเทศ
• การมุ่งเน้นสร้างช่องทางของธนาคาร เพื่อให้ลูกค้าส่วนบุคคลสามารถเข้าถึงและทำธุรกรรมได้ ผ่านช่องทางธนาคารตัวแทน (Agent Banking) และการขยายจำนวนเครื่อง ATM
นายภัทรพงศ์ กล่าวสรุปตอนท้ายว่า
รูปแบบของการร่วมลงทุนในครั้งนี้จะเป็นเพิ่มทุนให้กับเอแบงค์ ซึ่งจะส่งผลให้เอแบงค์มีฐานของเงินทุนในการดำเนินธุรกิจที่เข้มแข็งขึ้น โดยการลงทุนครั้งนี้จะดำเนินการผ่าน บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด ซึ่งธนาคารกสิกรไทยถือครองหุ้น 100% เป็นบริษัทลงทุน (Investment Holding Company) นอกประเทศไทย มีงบลงทุน ประมาณ 14,000 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในต่างประเทศ ให้กับธนาคารกสิกรไทย นอกจากนี้การมีโอกาสเข้าร่วมถือหุ้นในเอแบงก์ จะช่วยเพิ่มสร้างความหลากหลายในการให้บริการการเงิน เสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของเมียนมา เพื่อต่อยอดธุรกิจของธนาคารฯ ในเมียนมาที่จะเชื่อมเครือข่ายธุรกิจและระบบชำระเงิน ตามยุทธศาสตร์การทำธุรกิจในอนาคตของธนาคารกสิกรไทยที่จะมุ่งเน้นขยายเครือข่ายการให้บริการแก่ลูกค้าท้องถิ่น นักธุรกิจไทยและต่างชาติที่ขยายธุรกิจไปในประเทศ AEC+3 (เออีซี จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้)