15 เมษายน 2563 กรุงเทพฯ: มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ห่วงใยในความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมส่งมอบอาวุธป้องกันการติดเชื้อให้นักรบเสื้อขาวสู้ภัย COVID-19 ผ่าน แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมสมทบทุนหลักประกันชีวิตเพื่อความมั่นใจในการปฏิบัติงาน ยึดหลัก Physical distancing ชวนพนักงานทั่วประเทศร่วมงานบริจาคแบบ Virtual Event ผ่านเครื่องมือการประชุมออนไลน์ ด้านมูลนิธิไฟเซอร์ระดับโลกได้ตั้งกองทุนกว่า 40 ล้านเหรียญ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
มร.เซลิม เซสกิน ประธานกรรมการ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ซึ่งเป็นโรคระบบทางเดินหายใจร้ายแรง สามารถติดต่อแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จากยอดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ยังคงเพิ่มจำนวนอยู่อย่างต่อเนื่อง บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในสถานพยาบาลระดับต่างๆถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ต้องเผชิญโอกาสที่จะติดเชื้ออยู่ตลอดเวลา จากการมีปฏิสัมพันธ์และมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อที่ได้มาตรฐานให้เพียงพอต่อภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นของบุคลากรทางการแพทย์ดังกล่าวถือเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน
“ที่ผ่านมามูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพใจแก่สังคม ทั้งในยามเหตุปกติและยามเกิดภัยพิบัติ รวมถึงร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ที่จะทำให้ผู้คนเกิดความปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดีเสมอมา ในสถานการณ์สำคัญครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่เสียสละตนเอง เป็นด่านหน้าในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 มูลนิธิฯ ตระหนักดีว่าวิกฤตทางด้านสุขภาพระดับโลกที่ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลายาวนาน ไม่เพียงส่งผลกระทบทางด้านร่างกาย แต่ยังส่งผลต่อจิตใจด้วย จึงร่วมสนับสนุนโครงการนักรบเสื้อขาวสู้ภัย COVID-19 โดยแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในด้านการจัดหาอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์จากการติดเชื้อในขณะปฏิบัติงาน สำหรับ 27 โรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดห่างไกล อาทิ จังหวัดยะลา ตรัง ตาก สกลนคร เป็นต้น จำนวน 12,700 ชิ้น ประกอบด้วยหน้ากากอนามัยผ้าแบบซักได้ หน้ากาก N95 และชุด PPE (Personal Protective Equipment) ป้องกันการติดเชื้อ พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมสมทบทุนมอบความคุ้มครองจากโรคโควิด-19 ประกันชีวิตแพทย์และพยาบาล มูลค่า 500,000 บาท เพื่อเป็นหลักประกันชีวิตให้เกิดความมั่นในในการปฏิบัติงาน”
สำหรับการมอบอุปกรณ์และสนับสนุนโครงการนักรบเสื้อขาว สู้ภัยโควิด-19 ในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับการเว้นระยะทางกายภาพ (Physical distancing) เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส จึงจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ หรือ Virtual Event ผ่านแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์ Webex Meetings ที่ปกติบริษัทจะใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการประชุมทางไกลระหว่างพนักงานในองค์กร หรือระหว่างประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ โดยครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ในขณะนี้ที่พนักงานของบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังทำงานที่บ้านตามนโยบาย working from home ของบริษัทฯ พนักงานกว่า 200 คน พร้อมสมาชิกในครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการมอบการสนับสนุนครั้งนี้ไปพร้อม ๆ กันจากที่บ้าน
“วิกฤตการณ์ครั้งนี้ คนไทยสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันได้หลากหลายวิธี ตั้งแต่การอยู่บ้าน ลดการเดินทาง ลดความเสี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก หรือเว้นระยะห่างทางกายภาพ ตามมาตรการ physical distancing ซึ่งมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมส่งมอบกำลังใจและความห่วงใยไปยังบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ด้วยความทุ่มเท เสียสละ และเชื่อมั่นว่าคนไทยจะสามารถผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน” มร.เซลิม กล่าว
ในขณะเดียวกันมูลนิธิไฟเซอร์ระดับโลก ก็ได้มีการประกาศจัดตั้งกองทุนกว่า 40 ล้านเหรียญ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในสหรัฐอเมริกาและระดับโลก ส่วนในฐานะของบริษัทชีวเวชภัณฑ์ระดับโลกนั้น ไฟเซอร์ เริ่มมีความก้าวหน้าทางการวิจัย พัฒนาวัคซีนและยา เพื่อใช้ป้องกันและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยบริษัทได้ร่วมมือกับหน่วยงานในระบบนิเวศนวัตกรรมการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ หรือบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ ตลอดจนถึงหน่วยงานภาครัฐและสถาบันวิจัย เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ซึ่งนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ยังคงเดินหน้าทำงานอย่างไม่หยุดยั้งในการค้นคว้าเกี่ยวกับสารประกอบต้านเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-COV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 รวมถึงวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ตลอดจนการประเมินการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยผู้ป่วยที่ติดเชื้อต่อสู้กับไวรัสต่อไป