ในช่วง 3 เดือนที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 ได้เริ่มแพร่ระบาดไปทั่วโลก บางท่านคงอาจจะกำลังได้รับผลกระทบของมันอยู่ในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บป่วย การงาน รายได้ หรือสินค้าราคาแพงที่ขึ้น ฯลฯ ไพรซ์ซ่าต้องการนำเสนอในอีกแง่มุมของไวรัส ที่ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกและธุรกิจ เพื่อชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่หลายสิ่งกำลังแย่ ก็ยังมีสิ่งดีๆ เหล่านี้อยู่
ไวรัสโควิด-19 ทำประโยชน์อะไรให้กับโลก?
ให้โอกาสธรรมชาติได้พักหายใจ
เมื่อสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เช่น ทะเล ป่า ดอย ฯลฯ ถูกปิดชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ปราศจากการรบกวนจากมนุษย์ ระบบนิเวศน์จึงมีโอกาสฟื้นฟูตัวเองได้มากกว่าปกติ ดังที่เห็นได้จากเหตุการณ์เหล่านี้
ภาพจาก Twitter @DrAshJac
เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา พบเต่าทะเล Olive Ridley1 ที่ถือเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ กว่าแสนตัวกลับขึ้นมาวางไข่ในรอบ 7 ปี หลังจากที่เว้นมาตั้งแต่ปี 2013 บนชายหาด Rushikulya และ Gahirmatha รัฐโอดิชา ประเทศอินเดีย ในช่วงที่มาตรการล็อคดาวน์ในประเทศได้เริ่มต้นขึ้น
ทำให้มลพิษทางอากาศทั่วโลกลดลง
หลังจากหลาย ๆ ประเทศได้เริ่มใช้มาตรการปิดเมือง ปิดประเทศ หรือที่เรียกว่า Lock Down จำกัดการเดินทางของประชาชน หรือให้งดออกจากที่อยู่อาศัย ผลปรากฎว่า มลพิษทางอากาศของประเทศเหล่านั้นลดลง อย่างมีนัยสำคัญ
โดยดัชนีที่ใช้ชี้วัดมลพิษในอากาศ ได้แก่ ปริมาณฝุ่น PM 2.5 และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกอันตราย ที่มีสาเหตุมาจากกระบวนการดำรงชีวิตของพืช การทำอุตสาหกรรม และการเผาผลาญเชื้อเพลิงในยานพาหนะ ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรงได้
• จีน มีปริมาณก๊าซ NO2 ลดลงประมาณ 10 – 30% 2
• สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในโลก หลังจากประกาศให้ลดการทำกิจกรรมนอกบ้าน ปริมาณก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลงไปประมาณ 30% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 3
• อิตาลี มีปริมาณก๊าซ NO2 ลดลงประมาณ 40% 2
• อินเดีย ประเทศที่มีประชากรราว 1,400 ล้านคน หลังรัฐบาลประกาศ Lock Down ห้ามออกจากบ้าน ในระยะเวลา 1 สัปดาห์ พบว่าค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ ณ เมืองหลวงของประเทศ กรุงนิวเดลี ลดลงจากช่วงก่อนการประกาศถึง 71%4
สำหรับประเทศไทย จากภาพถ่ายดาวเทียม ESA’s Sentinel-5P ของ European Space Agency satellite 5 เปรียบเทียบระหว่างเดือนธันวาคม 2562 (ก่อนไวรัสแพร่ระบาด) และ เดือนมีนาคม 2563 พบว่าปริมาณความหนาแน่นของไนโตรเจนไดออกไซด์ มีการลดระดับลงเป็นอย่างมาก
ไวรัสโควิด-19 ส่งผลดีอย่างไรต่อธุรกิจ?
เหตุการณ์การแพร่ระบาดนี้ส่งผลให้หลายธุรกิจมีรายได้ที่ลดลง แต่ในทางกลับกันมันได้สร้างโอกาสให้บางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจออนไลน์ ที่ช่วงนี้เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน
ตลาดขายของออนไลน์เติบโตขึ้น 78.85% ในเดือนมีนาคม
เมื่อต้องถูกกักตัวอยู่ในบ้าน ห้างร้านต่างๆ ปิดทำการ จะออกไปไหนก็กลัวติดไวรัส “การซื้อสินค้าออนไลน์” ที่สามารถสั่งของแบบสบายๆ ผ่านแอปบนมือถือ หรือบนเว็บไซต์ จึงกลายมาเป็นช่องทางการซื้อของที่ตอบโจทย์กับปัญหาในช่วงนี้
จากกราฟแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงจำนวนคำสั่งซื้อ (Order) ออนไลน์ในเดือนมีนาคมของปี 2562 เปรียบเทียบปี 2563 ที่ผ่านมา กลับพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 79% ข้อมูลชุดนี้ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดซื้อของออนไลน์ ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคเราที่เปลี่ยนไปเพราะความจำเป็นต้องอยู่บ้าน ต้อง Work From Home ทำให้ต้องซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
โดยหมวดหมู่ของสินค้าที่มีอัตราการซื้อ (Conversion Rate: CVR) เติบโตขึ้น เมื่อเทียบในเดือนมีนาคม 2563 กับอัตราการซื้อเฉลี่ย 4 เดือนย้อนหลัง สูงสุด 5 อันดับแรก ตามข้อมูลจาก Priceza Insight พบว่าเป็นสินค้าประเภท สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เพิ่มขึ้นถึง 139%, หนังสือ 105%, ส่วนลดและแพ็กเกจท่องเที่ยว 102%, สินค้าแม่และเด็ก 96% และ อุปกรณ์สำนักงานและเครื่องเขียน 95% ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จำเป็นในการใช้ชีวิตในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลดังกล่าว มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ แม้ว่าช่วงนี้คนจะไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน แต่สินค้าหมวดหมู่ ดีลส่วนลดและแพ็กเกจท่องเที่ยว กลับมีอัตราการซื้อที่สูงขึ้นมาก ซึ่งจากการสำรวจพบว่าในเดือนมีนาคม สินค้าประเภทแพ็กเกจท่องเที่ยว มีการจัดโปรโมชั่นมอบส่วนลดที่ค่อนข้างสูง และสามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน รวมไปถึงสินค้าประเภทดีลส่วนลด ส่วนมากจะเป็น E-Coupon หรือ E-Voucher ที่สามารถใช้ได้เลยทันทีไม่ต้องรอการจัดส่ง เช่น คูปองส่วนลดบริการจัดส่งอาหาร Food Delivery เป็นต้น
ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการซื้อมากขึ้นกว่าเดิม
จากข้อมูลกราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงจำนวนรายการสินค้า (SKU) รวมบน Marketplace รายใหญ่ของไทย 3 แห่ง Shopee Lazada และ JD Central บน Priceza.com ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ก่อนเกิดเหตุการณ์ไวรัสระบาด เปรียบเทียบกับช่วง เดือนมีนาคม 2563 ด้านล่าง พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านรายการ ซึ่งไพรซ์ซ่าสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากจำนวนผู้ขาย หรือ SMEs ที่ขยับกิจการมาสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น
ในมุมผู้บริโภคการที่ผู้ขายมีจำนวนเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เรามีตัวเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น ไม่จำกัดว่าจะต้องซื้อจากร้านค้าเพียงไม่กี่รายอีกต่อไป (ในบางประเภทสินค้า) นอกจากนี้ยังอาจจะทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างร้านค้า ที่ต้องออกโปรโมชั่นมาลดราคามาเพื่อแย่งลูกค้า ซึ่งผลประโยชน์ก็จะตกที่ผู้บริโภคเรา ในเรื่องการได้ซื้อราคาสินค้าที่ถูกลงมา
จากข้อดีของไวรัสโควิด-19 ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาทั้งต่อโลกและเศรษฐกิจ ล้วนแล้วแต่เป็นผลประโยชน์ระยะสั้นที่หากการแพร่ระบาดนี้จบลง สิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงก็อาจจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม เพราะเหตุการณ์หรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น ล้วนเกิดมาจาก “ความจำเป็น” จำเป็นที่ต้องอยู่บ้าน, จำเป็นต้องซื้อของออนไลน์เพราะกลัวการติดเชื้อ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ทุกภาคส่วนรวมถึงตัวผู้บริโภคเอง จึงควรใช้โอกาสนี้หาแผนเสริมรักษาสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นให้คงอยู่สืบต่อไป และจำเป็นต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงระลอกใหม่อีกครั้งเมื่อภัยจากไวรัสสิ้นสุดลง
แหล่งที่มา
- www.india.mongabay.com/2020/04/olive-ridleys-day-nest-in-odisha-after-seven-years-but-no-link-to-lockdown-say-experts/
- www.theguardian.com/environment/2020/mar/23/coronavirus-pandemic-leading-to-huge-drop-in-air-pollution
- www.cnbc.com/2020/04/09/coronavirus-air-pollution-plummets-30percent-in-northeast-us-amid-lockdowns.html
- edition.cnn.com/2020/03/31/asia/coronavirus-lockdown-impact-pollution-india-intl-hnk/index.html
- dhruvmehrotra3.users.earthengine.app/view/earther-time-series