ทุกภาคส่วนมองพรรคการเมืองขายฝันค่าแรงขั้นต่ำ หวั่นศก.พัง ย้ายฐานการผลิต พร้อมให้คำนึงถึงระบบประกันสังคม รัฐยังค้างจ่ายเงิน 5 หมื่นล้าน และไม่พอค่าครองชีพ รวมทั้งคำนึงแรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ สหภาพฯ ฉะ รัฐต้องเลิกพูดค่าแรงขั้นต่ำ แต่ควรทำเป็นโครงสร้างทั้งระบบเหมือนกันทั้งแรงงานในระบบ – นอกระบบ
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยในงานสัมมนาสาธารณะในประเด็นค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทย ของหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ บสก.รุ่นที่ 11 โดยสถาบันอิศรา ว่าฐานะนายจ้าง เข้าใจว่าลูกจ้างต้องการค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าที่เป็นอยู่เพื่อให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ แต่ขอให้ลูกจ้างเข้าใจบริบทของประเทศไทยที่การขายสินค้าในบางกลุ่มยังขายได้ในมูลค่าที่ไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตามยืนยันการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทย จะผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการไตรภาคีค่าจ้าง 3 ฝ่าย โดยใช้ตามหลักสากลซึ่งจะพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจเงินเฟ้อความสามารถของนายจ้างที่จะจ่าย และความเป็นอยู่ของลูกจ้างเพื่อให้เกิดความสมดุลกับทุกฝ่าย
“ค่าจ้างขั้นต่ำเสมือนเป็นค่าจ้างแรกเข้าเป็นค่าจ้างตามกฎหมาย ที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับลูกจ้างอย่างเท่าเทียม การจ้างงานของไทยในขณะนี้อยู่ในภาวะตึงตัวตลาดเป็นของลูกจ้าง หรือ อยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานไปอีกอย่างน้อย 5 ปี โดยเฉพาะแรงงานในระดับกลาง – ระดับสูง เนื่องจากแรงงานยังไม่กลับเข้าสู่ระบบ หลังจากการระบาดของโควิด 19”
ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองต่างใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียงด้วยการชูประเด็นด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นนโยบายชวนเชื่อทางการตลาด แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งทำได้จริง เพราะการขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องของนายจ้าง เป็นเรื่องของภาคเอกชนที่เป็นผู้จ่าย ไม่ได้ใช้งบประมาณของพรรคการเมือง หรืองบจากภาครัฐแต่อย่างใด โดยหากค่าจ้างที่สูงขึ้นเกินจากความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ของการอุปโภคบริโภคทั้งหมด และ สุดท้ายภาระจะตกอยู่กับผู้บริโภค ทั้งนี้ในฐานะนายจ้าง มองว่าค่าจ้างขั้นต่ำของไทยควรจะเป็นค่าจ้างที่ขึ้นเป็นอัตโนมัติตามอัตราเงินเฟ้อ และ ต้องไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง
“เป้าหมายคือ นายจ้างลูกจ้างต้องอยู่ด้วยกันได้เหมือนปาท่องโก๋ ดังนั้นการขึ้นค่าจ้างปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ องค์กรไตรภาคีที่ทำกันมาแล้วกว่า 30 ปี การเมืองอย่าเข้ามาแทรกแซงทำลายต้นทุนของชาติและประชาชนชน ก็ต้องรู้เท่าทันว่าพรรคการเมืองต่างๆ เค้าใช้การตลาด 100 % เพื่อให้ได้เข้ามาในสภาฯ” นายธนิต กล่าว
นอกจากนี้อยากฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ GEN Z ที่กำลังหางานทำสิ่งที่ต้องมีคือทักษะด้านภาษา โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานต้องมี บุคลิกภาพที่ดีแต่งกายที่เหมาะสมมีการเตรียมข้อมูลก่อนการสัมภาษณ์ และสุดท้ายอย่าเลือกงานเพราะแม้ว่าเงินเดือนจะน้อยในตอนต้น แต่ประสบการทำงานจะทำให้เราสามารถเพิ่มค่าตอบแทนในอนาคตได้
สอดคล้องกับ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยนโยบายทรัพยากรมนุษย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยถึงผลกระทบของการดำเนินนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 ว่า ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยอยู่ระหว่าง 308 ถึง 330 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับจังหวัด ต้องบอกว่ายังมีแรงงานที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 4 ล้านคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ซึ่งการใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำจำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ มีประสิทธิภาพสูงและควรครอบคลุมถึงการเลี้ยงดูคู่สมรสและบุตรด้วย และค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่ค่าจ้างเริ่มต้นของแรงงานมีฝีมือในการเข้าสู่ตลาดแรงงานซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจทำให้เกิดปัญหาการปลดแรงงานดังนั้นการเพิ่มค่าจ้างแรงงานควรเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเปรียบเสมือนเหรียญสองด้านคือ ต้นทุนผู้ประกอบการที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากการรับภาระค่าแรง ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า หากเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานได้มากขึ้น ต้นทุนค่าแรงอาจไม่เพิ่มขึ้น 30-40% เท่ากับค่าแรงที่ปรับขึ้นและด้านการใช้จ่ายของประชาชน การเพิ่มค่าแรงอาจไม่ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้จริงผลกระทบต่อเงินเฟ้ออาจไม่สูงมาก
“ทั้งนี้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแรงงานได้มากพอสมควรและไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อสัดส่วนการจ้างงานและสัดส่วนการเข้าร่วมแรงงานของแรงงานทักษะต่ำ แต่เป็นภาพลวงตาจากการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคการผลิต ทั้งนี้ผลกระทบการเคลื่อนย้ายที่น่ากังวลที่สุดอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะต่ำในวัยหนุ่มสาวอายุ 15-24 มากกว่า” โดยในข้อเท็จจริงพบว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่เหมาะสม เช่น ไม่ทันกับค่าครองชีพ ไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงานที่ เพิ่มขึ้น เป็นต้น แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีเช่นแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทำให้แรงงานได้ประโยชน์ ประมาณ 3.2 ล้านคน หรือประมาณ 30% ช่วยลดช่องว่างความเหลือมล้ำให้กับแรงงาน
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำเป็นที่ถกเถียงกันมานานซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามที่จะเสนอค่าจ้างที่เป็นธรรมให้กับลูกจ้าง แต่ปัญหาคือคนส่วนใหญ่รับค่าจ้างขั้นต่ำแต่ไม่มีหลักประกันในการทำงานเพราะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองว่าจะสอดรับหรือไม่ทำให้ไม่สามารถวางแผนอนาคตได้ คนงานส่วนใหญ่ต้องทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ และประกันสังคมก็ไม่ตอบสนองด้านแรงงานเป็นหนี้เป็นสิน จะเห็นได้ว่าแรงงานอยู่ในสภาวะที่ลำบาก เมื่อคนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชีวิตแบบนี้ แน่นอนว่าไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต
“ผมอยากบอกรัฐว่าเห็นว่าให้เลิกพูดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เสนอให้เป็นระบบโครงสร้างค่าจ้าง ทุกปีจะต้องมีการปรับขึ้นของเงินเดือนที่ต้องอิงกับดัชนีค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ เพื่อพิจารณาว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างเท่าไหร่ เพราะการขึ้นค่าจ้างต้องยอมรับว่าเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่เข้าไปแทรกแซงกลไกเจรจาต่อรอง วันนี้มีผู้ใช้แรงงานกว่า 40 ล้านคน แต่การรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานมีเพียง 6 แสนคนซึ่งกลไกในการเจรจาต่อรองจึงไม่เกิดขึ้น จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องหาทางออกว่า ระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างแรงงานควรจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งมีงานวิจัยเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิต อีกทั้งประสิทธิภาพการทำงานออกมาดี แต่สำหรับประเทศไทยพบว่าแม้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น แต่ค่าแรงขั้นต่ำกลับปรับขึ้นเพียง 5-8% เท่านั้น”
การชูนโยบายหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำ ทุกคนอยู่อย่างหวาดระแวง อีกทั้งยังติดกับดักรายได้ปานกลางเพราะมีปัญหาแต่ไม่เคยแก้ไข ดังนั้นเรื่องตัวเลขค่าจ้างให้เก็บเอาไว้ก่อน แต่ให้เริ่มจากความเป็นจริงว่า ค่าแรง 354 บาทอยู่ได้หรือไม่ แรงงานทั้งในและนอกระบบทุกคนต้องเท่าเทียมกัน และแรงงานนอกระบบต้องมีหลักประกันอย่างชัดเจน คนส่วนใหญ่หลุดจากการเจรจาต่อรองเพราะกฎหมายไม่คุ้มครอง ดังนั้นการสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อสร้างศักยภาพต่อรอง จะเป็นการต่อรองเรื่องค่าจ้างโดยอัตโนมัติ ดังนั้น การเมืองที่จะมากำหนดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ จึงต้องทบทวนและคิดใหม่ โดยทำลักษณะโครงสร้างค่าจ้างให้ชัด คำถามที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การเลือกตั้งเราต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้งว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำทำได้จริงหรือเป็นแค่เพียงฝันไปเรื่อย ตนเห็นว่าขายฝัน เพราะตัวเลขไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงต้องถกเถียงเรื่องภาวะเศรษฐกิจและสังคมให้จบ และกำหนดตัวเลขออกมาให้ครอบคลุมทั้งแรงงานในและนอกระบบ
ด้าน นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แรงงานนอกระบบ คือ แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในภาคการจ้างงานที่เป็นทางการ ปี 2565 คนมีงานทำทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ 20.2 ล้านคนซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำไม่คุ้มครอง ที่เห็นได้ชัดคือในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ต้องลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวและปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากไม่มีรายได้ประจำ ไม่สามารถที่จะฝันเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำได้ อีกทั้งบางอาชีพของแรงงานนอกระบบขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ถ้าการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาก็ยากที่จะฟื้น แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายแต่หลายอาชีพที่เป็นแรงงานนอกระบบก็ยังไม่ได้กลับมาทั้งหมด
“คำถามว่า ค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทยหรือไม่ เราอยู่นอกระบบของการคิดค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ว่าจะประกาศอะไร จะเป็นฝันของใครไม่รู้ แต่ไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐควรทำคือ การคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างที่เป็นธรรม ต้องคุ้มครองถึงแรงงานนอกระบบกลุ่มที่มีผู้จ้างงานหรือนายจ้างด้วย และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องประกันรายได้กลุ่มคนเหล่านี้ ต้องมีมาตรการส่งเสริมให้มีรายได้ให้เท่าเทียมกับค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในระบบ”
นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน มีนโยบายที่จะพลิกโฉมตลาดแรงงานไทยในปี 66 เช่น พัฒนาภาคแรงงานต้องสอดรับกับโลกยุคดิจิทัล สนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงานนอกระบบ คำนึงถึงความต้องการของสถานประกอบการในประเทศและแรงงาน ได้รับการส่งเสริมด้านรายได้ แรงงานได้รับความคุ้มครองได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสุขอย่างยั่งยืน
“หากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ แน่นอนว่าส่งผลให้อุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในเขตปริมณฑล เพราะไม่มีแรงจูงใจที่จะกระจายการผลิตไปยังจังหวัดที่อยู่ห่างออกไป หากมีปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ก้าวกระโดด/ สูงเกินไป นอกจากนี้ ไทยอาจสูญเสียความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาสินค้าของไทยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และผู้ประกอบการอาจต้องปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าหากปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทุกจังหวัดและปรับแบบก้าวกระโดด ที่สำคัญอาจจะมีผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจท้องถิ่นหรือกิจการขนาดเล็ก ส่งผลให้ต้องลดจำนวนคนงานลงหรือปิดกิจการ ส่วนแรงงานจะมีรายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น มีอำนาจซื้อน้อยลง และมีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง ทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพ”