“ซีพี ออลล์” ยกระดับค่าย Creative AI Camp ปีที่ 2 เฟส 2 เพิ่มโอกาสการเรียนรู้เยาวชนจาก Face to Face 5 วัน เป็นการเรียนรู้ด้วยแพลทฟอร์ม Phenomena Work-based Education Learning ผ่านการ Workshop and Work-based online เสมือนอยู่ค่ายจริง ต่อเนื่องเกือบ 2 เดือน จับมือมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (PKU), มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และพันธมิตร ติวเข้มเยาวชน ม.ปลาย-อาชีวะ ต่อยอดทักษะการสร้างสรรค์ AI เปิดพื้นที่เยาวชนทดลองทำโปรเจ็คท์ต้นแบบ ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนและความต้องการของสังคมในยุค New Normal
นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 บริษัทจึงได้ปรับรูปแบบการจัดค่าย Creative AI Camp ปีที่ 2 เฟส 2 จากการเป็นค่ายพัฒนาองค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) 5 วัน ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา สู่การเรียนรู้ AI และหมากล้อมผ่านแพลทฟอร์ม VDO Conference ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัยต่อสุขภาพ
“COVID-19 สร้างความท้าทายขึ้นมาหลายอย่าง แต่เรามองว่าทุกปัญหาคือโอกาส จึงได้ทำแบบสอบถามเรื่องการปรับรูปแบบค่ายไปยังเยาวชนและผู้เกี่ยวข้องกับค่าย Creative AI Camp ปีที่ 2 และได้ข้อสรุปตรงกันในการปรับแผนมาจัดการเรียนรู้ผ่านรูปแบบ VDO Conference เรียนรู้ผสมระหว่าง Online และ Offline พร้อมกับระยะเวลาการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น หรือเป็น Phenomena Work-based Education Learning ทุกภาคส่วนพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้การเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของไทย และผู้สอนที่อยู่ทั้งในประเทศไทย สิงคโปร์ และจีน สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นายก่อศักดิ์ กล่าว
สำหรับพันธมิตรหลักในการจัดค่าย Creative AI Camp ปีที่ 2 เฟส 2 ของซีพี ออลล์ ครั้งนี้ ได้แก่ Advanced Robotics Center มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS), Department of Information Management Peking University (มหาวิทยาลัยปักกิ่ง), บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จํากัด, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM), บริษัท ไอโนว์พลัส จำกัด, บริษัท เอ็มเอเอฟเอ็กเซลเลนท์ จำกัด, บริษัท แอมเบี้ยน ซอฟท์ จำกัด และ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI นายโสภณะ ประแจงศรี โซลูชั่น อาทิเทค, นายปาลิตา ลาภานุพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน คอมพิวเตอร์วิทัศน์ และ นายรัชชยุต ภูวัชร์เตชากร ประธานชมรมครูหมากล้อมแห่งประเทศไทย โดยแต่ละองค์กรจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาให้ความรู้ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือนแก่เยาวชนที่ผ่านการ คัดเลือกจากผู้สมัครทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
ขณะที่เนื้อหาหลักภายในค่าย มุ่งเน้นการผสมผสานให้เยาวชนได้พัฒนาทั้งความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ประกอบด้วย 1.การบูรณาการวิธีสร้างสรรค์ AI ผ่านปรัชญาการเล่น หมากล้อม (Creative AI Convergence by Go Philosophy) เพิ่ม EQ ให้เยาวชนรู้แพ้ รู้ชนะ ให้ความสำคัญ กับมิตรภาพ และสามารถนำความซับซ้อนของหมากล้อมไปประยุกต์สร้างสรรค์ AI ที่ซับซ้อนขึ้น 2.ความรู้ เกี่ยวกับกลุ่มเทคโนโลยี ABCD เพิ่ม IQ ผ่านทักษะเทคโนโลยีใหม่ๆ อันประกอบด้วย AI (ปัญญา ประดิษฐ์), Block chain (บล็อกเชน), Cloud และ Digital Data
ด้าน รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล หนึ่งในที่ปรึกษากรรมการจัดค่าย Creative AI Camp กล่าวว่า ปัจจุบัน วิกฤติ COVID-19 พิสูจน์ได้ดีว่าหากปราศจากการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี จะทำให้ทั้งการสื่อสารและการพัฒนาองค์ความรู้เกิดขึ้นได้ยากมาก ค่าย Creative AI Camp ปีที่ 2 เฟส 2 ที่ปรับไปอยู่บนแพลทฟอร์มใหม่กับเครื่องมือทางเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงถือเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยให้เยาวชนยังสามารถพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาทักษะแห่งอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง
“ในโลกยุคถัดไป AI จะมีบทบาทสำคัญกับการทำงานและการดำรงชีวิตต่อไปของมวลมนุษยชาติ และเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ชีวิตของทุกคนจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เยาวชนจึงต้องเรียนรู้ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง เก่งทั้ง IQ และ EQ ค่ายครั้งนี้จะฝึกวิธีคิด และสานต่อวิธีคิดให้กลายเป็นชิ้นงานจริงที่จะมีประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต เยาวชนต้องรู้และเข้าใจทั้งเทคโนโลยี AI ความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อนมนุษย์ และการอยู่ร่วมกัน เพื่อให้ AI ทำงานสนับสนุนคน ไม่ใช่แทนที่คน” รศ.ดร.พินิติ กล่าว
ขณะที่ ดร.พงส์ศักดิ์ โหลิมชยโชติกุล ผู้อำนวยการสำนักปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารโครงการ กล่าวว่า ผลกระทบจาก COVID-19 กลายเป็นตัวเร่งให้ AI มีความสำคัญมากขึ้น สถานการณ์การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการกักตัว ทำให้ผู้คนเปลี่ยนมาใช้ชีวิตบนโลกเสมือน (Virtual World) ผ่านเทคโนโลยี Digital Twin เช่น แพลทฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ จนเกิดการหลั่งไหลของข้อมูลอย่างมหาศาล AI ซึ่งกินข้อมูลเป็นอาหาร จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากใน 4 กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดความปกติแบบใหม่ หรือ New Normal ได้แก่ 1.กลุ่มค้าปลีก (Retail) 2.กลุ่มสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Health & Wellness) 3.กลุ่มไลฟ์สไตล์และความบันเทิง (Lifestyle & Entertainment) 4.กลุ่มการเงิน (Finance)
“ค่ายครั้งนี้จะให้เยาวชนได้ทดลองทำโปรเจ็คท์ด้าน AI ที่เคยนำเสนอไอเดียในค่ายปีที่ 2 เฟส 1 ให้ออกมาเป็นชิ้นงานต้นแบบ (Prototype) โดยหัวข้อของเยาวชนแต่ละกลุ่มจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ ขณะเดียวกันก็จะสอดแทรกฟังก์ชั่นให้พร้อมรับมือ New Normal เข้าไป หลังจากโปรเจ็คท์ต้นแบบสมบูรณ์แล้ว จะมีการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการทั้งชาวไทยและต่างประเทศต่อไป” ดร.พงส์ศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้เพื่อให้การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและ AI เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทอยู่ในระหว่างการจัดตั้ง Creative AI Club by CP All ขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ให้เยาวชนและผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้าน AI เข้ามาพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ได้อย่างต่อเนื่องด้วย คาดว่าจะเปิดเผยรายละเอียดได้เร็วๆ นี้
สำหรับค่าย Creative AI Camp จัดขึ้นภายใต้ปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” มุ่งเน้นให้เหล่าเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ ได้พัฒนาทักษะความสามารถจนกลายเป็น “วิถีความเป็นมนุษย์ AI สร้างสรรค์” (CreativeAIness) สามารถสร้างสรรค์ AI เพื่อประโยชน์ของสังคมได้ และกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนโลกในอนาคต