กรุงเทพฯ 12 กรกฎาคม 2566 – นางนวลพรรณ ล่ำซำ หรือ มาดามแป้งได้ลงพื้นที่พร้อมกับยูนิเซฟเพื่อเยี่ยมเด็กข้ามชาติและเด็กไร้สัญชาติที่โรงเรียนบ้านป่าบง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกของมาดามแป้งในฐานะที่ปรึกษาขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
ในฐานะที่ปรึกษาขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย มาดามแป้งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยยูนิเซฟสร้างความตระหนักถึงความท้าทายต่าง ๆ ที่เด็กในประเทศไทยยังคงต้องเผชิญ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิเด็กและสนับสนุนยูนิเซฟในการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
“แป้งคิดเสมอว่า ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของทุกประเทศคือมนุษย์ ซึ่งการจะพัฒนาให้มีศักยภาพได้นั้นต้องมีรากฐานการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว และระบบการศึกษาตั้งแต่วัยเด็ก เด็กทุกคนต่างก็มีศักยภาพและเปรียบได้เหมือนกับกระดาษขาว และการศึกษาที่มีคุณภาพในระดับชั้นต่าง ๆ ก็จะเป็นเหมือนสีที่เข้ามาแต่งเติมชีวิตของเขาให้สวยงาม ดังนั้นการที่เด็กในประเทศไทยทุกคน รวมถึงเด็กข้ามชาติได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนไทยเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยความมุ่งมั่นของบุคลากรที่น่ายกย่องทุกคน โรงเรียนแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังมีที่เชียงราย แม่ฮ่องสอน กรุงเทพ และอีกหลาย ๆ จังหวัดค่ะ” มาดามแป้งกล่าว
ที่โรงเรียนบ้านป่าบง ยูนิเซฟได้สนับสนุน “รถห้องสมุดเคลื่อนที่” เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กไร้สัญชาติ และเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยรถห้องสมุดเคลื่อนที่จะบรรจุหนังสือเด็กและสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์มากมาย พร้อมนักเล่านิทานประจำรถซึ่งจะมาสอนภาษาไทยและจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับเด็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบัน รถห้องสมุดเคลื่อนที่ของยูนิเซฟเดินทางไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ห่างไกลใน 5 จังหวัดชายแดนของประเทศไทย โดยเข้าถึงเด็ก ๆ กว่า 8,000 คน
โรงเรียนบ้านป่าบงมีนักเรียนจำนวน 126 คน กำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล – ประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนเกือบทั้งหมดเป็นเด็กข้ามชาติและเด็กไร้สัญชาติซึ่งครอบครัวอพยพมาจากประเทศเมียนมาเพื่อมาทำงานในสวนพริก-กระเทียมและลำไยในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ปี โรงเรียนบ้านป่าบงมีนักเรียนไม่ถึง 20 คน คุณครูจึงได้ประสานงานกับเจ้าของสวนในพื้นที่และเข้าไปพูดคุยกับครอบครัวแรงงานข้ามชาติเพื่อให้เห็นความสำคัญของการศึกษาและโน้มน้าวให้พวกเขาส่งบุตรหลานมาเรียนหนังสือที่โรงเรียน
ปัจจุบัน มีเด็กข้ามชาติในประเทศไทยราว 150,000 คนกำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนของรัฐ โดยกฎหมายและนโยบายของประเทศไทยอนุญาตให้เด็กทุกคนมีสิทธิ์เรียนฟรี 15 ปี ไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือสถานะอะไร หรือแม้จะไม่มีเอกสารใดๆ เลยก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กข้ามชาติประมาณ 200,000 คนที่ไม่ได้เข้าเรียน เนื่องจากหลากหลายสาเหตุ เช่น อุปสรรคด้านภาษา ความไม่พร้อมด้านทรัพยากรและศักยภาพของโรงเรียน ทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่มเด็กข้ามชาติ หรือการขาดการตระหนักรู้เกี่ยวกับนโยบายด้านการศึกษา นอกจากนี้ การย้ายถิ่นที่อยู่บ่อยครั้งของครอบครัวเด็กข้ามชาติก็เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ กลุ่มนี้เช่นกัน
เซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ซึ่งเดินทางลงพื้นที่พร้อมกับมาดามแป้ง กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งของรัฐมีการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กข้ามชาติ โดยจำนวนเด็กข้ามชาติในวัยเรียนมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคตเนื่องจากอัตราการเกิดในกลุ่มประชากรไทยที่ลดลงประกอบกับการเดินทางข้ามพรมแดนที่เพิ่มขึ้น
“การศึกษาเป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน การประกันการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่จำเป็นและถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคตร่วมกันอีกด้วย ขณะที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว เด็กข้ามชาติจะกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต” เลโอนาร์ดี กล่าว
คยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับคุณนวลพรรณ ล่ำซำ การอุทิศตนและการสนับสนุนอันมีค่าของคุณนวลพรรณจะช่วยให้เราสร้างอนาคตที่สดใสให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งรวมถึงเด็ก ๆ ที่เราได้พบเจอในจังหวัดเชียงใหม่ ความร่วมมือของเราจะเป็นพลังยกระดับความเป็นอยู่ของเด็กทุกคน เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและมีโอกาสพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มศักยภาพ”
“ด้วยความตั้งใจจริงกับแพชชั่นที่แป้งมีอยู่นะคะ ก็อยากจะให้คำมั่นว่า แป้งจะพยายามทำทุกอย่าง จะอาศัยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และความถนัดที่มี มาช่วยพัฒนาเด็กทุกคนไปด้วยกันนะคะ” มาดามแป้ง ให้คำมั่นสัญญา ทิ้งท้าย