กรุงเทพประกันภัย เผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2563 ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวมที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.3 หรือเท่ากับ 6,136.1 ล้านบาท มีกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 328.5 ล้านบาท และรายได้สุทธิจากการลงทุน 459.7 ล้านบาท กำไรก่อนภาษีเงินได้ 788.2 ล้านบาท และเมื่อหักภาษีเงินได้แล้ว บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 668.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐานเท่ากับ 6.28 บาท
ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI คาดว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ ในไตรมาสสองมีแนวโน้มเป็นไปตามเป้าหมายแต่การเติบโตอาจแผ่วลงจากการได้รับผลกระทบของสถานการณ์การแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เล็งเห็นว่า ยังมีปัจจัยบวกหลายประการที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจ แม้ปัจจุบันธุรกิจประสบกับความท้าทายทั้งจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างชัดเจน การส่งออกหดตัว ยอดขายรถยนต์ใหม่ที่ชะลอตัวอย่างมาก และผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์และการดำเนินธุรกิจทั่วโลก ซึ่งปัจจัยบวกที่จะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจประกันวินาศภัย ได้แก่
• การที่ผู้บริโภคตระหนักมากขึ้นถึงความเสี่ยงภัยด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เห็นได้จากตัวเลขผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยไวรัส COVID-19 มีจำนวนมาก (ข้อมูล: คปภ. ณ 17 เมษายน เท่ากับ 8.15 ล้านกรมธรรม์) ซึ่งกลุ่มนี้จะกลายเป็นฐานลูกค้าที่มีศักยภาพในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพประเภทอื่นๆ ต่อไป
• แนวโน้มของอัตราค่าสินไหมทดแทนของประกันสุขภาพที่จะลดลงจากการใช้ชีวิตแบบ New Normal เช่น การสวมหน้ากากอนามัย, การล้างมือเป็นประจำ, Social Distancing รวมทั้งการเข้มงวดด้านมาตรฐานความสะอาดและอนามัยในสถานที่ต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้การเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางเดินหายใจต่างๆ ลดน้อยลง เช่นเดียวกับความกังวลในเรื่องการระบาดของ COVID-19 ทำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หรือรักษาตัวเองเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย
• มาตรการผ่อนคลายของสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้บริษัทประกันภัยมีความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เช่น การอนุญาตให้จำหน่ายประกันภัยระยะสั้นเป็นรายวัน รายเดือนหรือรายไตรมาส, การอนุญาตให้สามารถผ่อนชำระเบี้ยประกันภัยรถยนต์ได้กับบริษัทประกันภัยโดยตรง, การให้จัดส่งกรมธรรม์แบบ e-Policy ให้ลูกค้าได้ นอกจากนี้ การเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกไปอีก 1 ปี ทำให้ช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการลงไปได้อีกระดับหนึ่ง
• โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของภาครัฐ ที่มีแผนจะเปิดประมูลและเซ็นสัญญาก่อสร้างในปีนี้ส่วนใหญ่ยังคงดำเนินการต่อไปตามแผนที่ตั้งไว้
• อัตราเบี้ยประกันภัยต่อในตลาดโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นจากความเสียหายของมหันตภัยในปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราเบี้ยประกันภัย IAR ในปีนี้ไม่สามารถตัดราคาเพื่อการแข่งขันได้เหมือนที่ผ่านมา
• การท่องเที่ยว ตัวขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยการท่องเที่ยวภายในประเทศจะเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาส 3 และจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ภายในเดือนตุลาคม (ที่มา: ททท.)
สำหรับกรุงเทพประกันภัยยังคงคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเบี้ยประกันภัยที่ตั้งไว้ 22,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 โดยมีแผนและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่รองรับโอกาสและความท้าทายข้างต้น ดังนี้
• การรักษาอัตราการต่ออายุและขยายฐานลูกค้ารายย่อย ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีอัตราการต่ออายุกรมธรรม์มากกว่า 90%
• การรับประกันภัยงานภาครัฐ ซึ่งยังมีแนวโน้มที่ดี โดยคาดจะได้เบี้ยจากเมกะโปรเจกต์ ผนวกกับเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านบาท
• การเล็งเห็นโอกาสของตลาดประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ ที่ลูกค้าตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น บริษัทฯ จึงได้พัฒนาออกผลิตภัณฑ์กรมธรรม์ประกันสุขภาพให้ความคุ้มครองครอบคลุมถึงประกันภัย COVID-19 (ประกันภัย 3 โรคกวนใจเพิ่มภัยโควิด) และได้นำบริการ Telemedicine เข้ามาให้บริการลูกค้าในปัจจุบัน และพร้อมจะขยายการให้บริการในรูปแบบใหม่เพิ่มเติมในเร็วๆ นี้
• การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความคุ้มครองที่เหมาะสมกับพฤติกรรมและกำลังซื้อของลูกค้าในสภาวการณ์เช่นนี้ เช่น การออกกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3+ ราคาประหยัด คุ้มครองระยะสั้น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้รถยนต์ของผู้บริโภคในช่วงสถานการณ์การระบาด COVID-19 รวมทั้งการขานรับนโยบายของสำนักงาน คปภ.ในการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถผ่อนชำระเบี้ยได้สูงสุดถึง 180 วัน การขยายความคุ้มครองให้ลูกค้าที่แจ้งหยุดใช้รถชั่วคราว
• การขยายงานในตลาดอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตจากการขยายการลงทุนของนักลงทุนไทย โดยคาดว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับต่อเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านบาท
นอกจากนี้แล้ว บริษัทฯ ยังได้เพิ่มการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องในการยกระดับคุณภาพการให้บริการ พร้อมรองรับ New Normal Lifestyle ด้วยการปรับเปลี่ยน Core Business System (CBS) ขยายการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Robotic Process Automation: RPA) มาปรับปรุงกระบวนการทำงานทั้งด้านรับประกันภัยและสินไหมทดแทนเพื่อให้ลูกค้าและคู่ค้าได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้นแล้ว บริษัทฯ ยังได้ตั้งเป้าเป็น Data Driven Organization โดยการปรับปรุงระบบ Enterprise Data Warehouse ของบริษัทฯ เพื่อใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ สนับสนุนการทำงานและการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ