คนส่วนใหญ่มักสับสนระหว่าง “ประกันชดเชยรายได้” กับ “ประกันสุขภาพ” เพราะประกันสองรูปแบบนี้ จัดอยู่ในหมวดหมู่ประกันเพื่อการดูแลสุขภาพเช่นเดียวกัน จึงมีความคล้ายกันมาก แต่ความแตกต่างของประกันสองแบบนี้ก็คือ “รูปแบบความคุ้มครองที่จะได้รับ” “ประกันสุขภาพ” ช่วงแบ่งเบาค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ “ประกันชดเชยรายได้” ช่วยรักษารายได้ของคุณเมื่อต้องขาดรายได้จากการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และช่วยลดความเสี่ยงเรื่องเงินระหว่างรักษาตัว
มาทำความรู้จัก “ประกันชดเชยรายได้” เพื่อความคุ้มครองให้เหมาะกับภาระที่คุณต้องการ
“ประกันชดเชยรายได้” ถูกออกแบบมาให้คุ้มครองรายได้ ในช่วงที่เจ็บป่วย ไม่สามารถทำงานได้และต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยจะมีการ “จ่ายค่าชดเชยรายวัน (สินไหมทดแทน)” เงินชดเชยส่วนนี้ “ไม่ใช่เงินค่ารักษาพยาบาล” แต่เป็นเงินที่บริษัท ประกันจ่ายให้แทนรายได้เป็นรายวันตามจำนวนวันที่คุณต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งหากมีการทำประกันชดเชยรายได้ควบคู่กับประกันสุขภาพ ก็จะยิ่งช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาล และอุ่นใจได้มากกว่า เพราะยังมีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแม้จะยังเจ็บป่วยอยู่ก็ตาม
ใคร ควรทำ “ประกันชดเชยรายได้” ?
- หัวหน้าครอบครัว
เพราะหัวหน้าครอบครัวต้องดูแลทั้งตัวเองและสมาชิกภายในบ้าน รวมถึง มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบทุกเดือน เช่น ผ่อนบ้าน, ผ่อนรถยนต์, ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในครอบครัว ฯลฯ หากหัวหน้าครอบครัวเกิดเจ็บป่วย ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน อาจทำให้กระทบต่อรายรับของครอบครัว จนอาจต้องกู้ยืมเงินทองมาใช้ระหว่างรักษาตัวเป็นเวลานาน - อาชีพอิสระ (Freelance)
เพราะคนทำงานอิสระ เช่น ทนายความ นักเขียน ช่างภาพ นักออกแบบ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหนๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเสียรายได้ระหว่างเจ็บป่วย ประกันชดเชยรายได้ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการคงรายได้ให้คุณ ในวันที่คุณนอนป่วยจนทำงานไม่ได้ - เจ้าของกิจการ
ถึงแม้คุณจะเป็นเจ้าของกิจการ และมีทีมงานช่วยคุณทำงานระหว่างที่คุณเจ็บป่วย แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็มีค่าใช้จ่ายที่ยังคงต้องจ่ายในแต่ละเดือน การทำประกันชดเชยรายได้ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายระหว่างที่คุณนอนพักรักษาตัว เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ - ทุกคนที่มีเป้าหมายทางการเงิน
เช่น วางแผนเกษียณอายุ หรือกำลังออมเงินเพื่อต่อยอดธุรกิจ การทำประกันชดเชยรายได้ เป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงการสูญเสียเงินออม เพราะคุณจะมีเงินชดเชยจากประกันชีวิตมาเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างที่ขาดรายได้ ซึ่งหมายถึง คุณไม่จำเป็นต้องนำเงินเก็บเพื่อเป้าหมายในอนาคตมาใช้จ่ายระหว่างเจ็บป่วย ประกันชีวิตแบบชดเชยรายได้จึงเป็นการวางแผนระยะยาวเพื่อรักษาเงินก้อนสำคัญในชีวิต
ที่สำคัญการทำประกันชดเชยรายได้ ควรเลือกทำวงเงินค่าชดเชยรายวัน (สินไหมทดแทน) ให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวัน หรือไม่น้อยกว่ารายได้ต่อวันที่คุณหาได้ นอกจากนี้ควรทำ ประกันสุขภาพควบคู่ไปด้วย เพราะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เช่น ค่าผ่าตัด ค่าหมอ ค่าห้อง ค่ายา ฯลฯ เพราะประกันชีวิตแต่ละแบบให้ประโยชน์ต่างกัน ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละแบบประกัน ดังนั้นควรทำความเข้าใจและเลือกทำประกันที่ตรงตามความต้องการของคุณ เพื่อได้ประโยชน์สูงสุด ในวันที่คุณเจ็บป่วยจนต้องขาดรายได้ขึ้นมา