มูลนิธิ กู้ดเนเบอร์ซ (ประเทศไทย) เปิดพื้นที่เสวนา “วิกฤตสภาพภูมิอากาศกับเยาวชน” ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมเสวนา เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 27 สิงหาคม 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สำหรับการเสวนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาวิกฤตภาวะโลกร้อน โดยเน้นให้เยาวชนเป็นกระบอกเสียงกระตุ้นเตือนผู้ใหญ่และผู้เกี่ยวข้อง ให้แก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้า วิกฤตภาวะโลกร้อน นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศ และกำลังกับเผชิญภัยแล้งที่แย่ที่สุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงนี้อาจทำให้กรุงเทพ ฯ และเมืองสำคัญต่าง ๆ จมลงในอีก 15 ปี ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคการท่องเที่ยวและการจัดการสังคม ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
• ผู้ร่วมเวทีเสนา “วิกฤตสภาพภูมิอากาศกับเยาวชน” ประกอบด้วยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวิกฤตสภาวะโลกร้อน มาแลกเปลี่ยนทัศนะพูดคุยบนเวที ได้แก่ 1.ดร.จิดาภา คุ้มกลาง คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2.ผศ.ดร.ดวงแก้ว เธียรสวัสดิ์กิจ (พิธีกรวงเสวนา) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3.ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านนโยบายสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค นักวิชาการในกลุ่ม Thai Climate Justice for ALL 4.วราภรณ์ รักษาพราหมณ์ เจ้าหน้าที่จาก UNICEF, Environment and Climate Action. 5.พิทยาภรณ์ พุทธสินธุ์ ตัวแทนเยาวชนจากเพจ greenyou.th
โดยก่อนการเสวนา นายซอกจุน ฮง (ผู้อำนวยการประเทศ) มูลนิธิ กู้ดเนเบอร์ซ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า “วิกฤตสภาพภูมิอากาศกับเยาวชน” เป็นเรื่องที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงวิกฤตภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากมีองค์ประกอบปัจจัยหลายอย่างที่เป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ที่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด นอกจากให้ทุกคนได้ตระหนักและลดพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อผ่อนวิกฤตภาวะโลกร้อน ให้ชะลอลง โดยหวังว่าในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะมีวิธีที่สามารถขจัดปัญหาภาวะโลกร้อนให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเยาวชน คือกลุ่มประชากรหลักที่จะต้องเผชิญกับปัญหานี้อย่างรุนแรงในอนาคต วิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพและทุกแง่มุมของชีวิตของเด็ก ขณะเดียวกันเยาวชนคือผู้ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและศักยภาพในการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ สร้างความเข้มแข็งและเกิดการปรับตัว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายของ มูลนิธิ กู้ดเนเบอร์ซ (ประเทศไทย) ที่ต้องการผลักดันพร้อมส่งเสริมให้คนไทยทั่วประเทศ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่แข็งแรง และมีอายุยืนยาว (Live longer, healthier, better lives)
ในการเสวนาครั้งนี้มีกลุ่มตัวแทนเยาวชน ได้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยบนเวที เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ต่างๆ ที่จะหาแนวทางป้องกันปัญหาวิกฤตภาวะโลกร้อน ไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ผู้ใหญ่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลปัญหานี้ ได้เพิ่มมาตรการที่จริงจังมากขึ้นกว่าเดิม โดยแนวทางในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน และคำนึงถึงความต้องการของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องมีมาตรการที่จะปกป้องพวกเขาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม การรับมือและการเผชิญหน้ากับโลกเดือดนั้นอาจจะยาก แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือการทำความเข้าใจ เรียนรู้ และเตรียมความพร้อม ซึ่งจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ของโลก โดยการ “โอบกอดโลกไว้ในวันที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม”