บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ จัดพิธีมอบโล่พระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้แก่บุคคลที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566 โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย กรรมการกิตติมศักดิ์โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เป็นประธานมอบรางวัล และแสดงปาฐกถาพิเศษด้านการอ่าน โดยมีนักเขียน นักวาดการ์ตูน บรรณาธิการ และสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 1 ชั้นล็อบบี้ โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ
นายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” เป็นหนึ่งในโครงการ “ส่งเสริมการศึกษาพัฒนาเยาวชน” ของซีพี ออลล์ ที่ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 20 ปี ตามปณิธานของบริษัทคือ “Giving and Sharing” โดยคัดสรรหนังสือดีมีคุณภาพทั้ง 7 ประเภทสู่สังคม ประกอบด้วย กวีนิพนธ์ การ์ตูน นวนิยาย รวมเรื่องสั้น วรรณกรรมสำหรับเยาวชน และสารคดี (ทั่วไป) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมนักเขียนคุณภาพ และสนับสนุนผลงานที่มีเนื้อหาจรรโลงสังคม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมถึงเพื่อให้เยาวชนได้พัฒนาตนเองด้านการอ่าน การเขียน
“โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เป็นโครงการที่บริษัทมุ่งหวังให้เป็นเวทีซึ่งเชิดชูและเป็นกำลังใจให้นักเขียนไทยได้พัฒนาฝีมือหรือผลิตผลงานที่มีคุณภาพ กระทั่งก้าวสู่ปีที่ 20 ได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง และเป็นเจตนารมณ์ที่จะมุ่งมั่นส่งเสริมการอ่าน การเขียน และการเรียนรู้เป็นหนทางของการพัฒนาคนนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของซีพี ออลล์ ในด้านการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชนที่ดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม และยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมหนังสือดีมีคุณภาพให้สังคมไทย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนและร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่านการเขียนให้เติบโตต่อไป เพราะองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดจากการอ่านและผลงานเขียนที่มีคุณภาพ เมื่อได้ออกสู่สังคม จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคน และนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติต่อไป”
ทั้งนี้ ในปีนี้มีผลงานประเภทต่าง ๆ ส่งเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 216 ผลงาน โดยผลการตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566 มีดังนี้
ประเภทกวีนิพนธ์ ชนะเลิศ “เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม” ของ “นิตา มาศิริ” รองชนะเลิศอันดับ 1 “ดินแดนบันไดงู” ของ “วิสุทธิ์ ขาวเนียม” รองชนะเลิศอันดับ 2 “มิปรารถนาเป็นอื่น” ของ “กวิสรา ม่วงงาม” และรางวัลยกย่องการสืบสานวรรณศิลป์ท้องถิ่น “การเวกครวญ” ของ “พันดา ธรรมดา” และหนังสือแนะนำ “ซ้อนซับกับโลกทึมเศร้า” ของ “บัญชา อ่อนดี”
ประเภทการ์ตูน ชนะเลิศ “ควันหลง และ หมอกขาว” ของ “มนัสวี โรจนพรรณ” รองชนะเลิศอันดับ 1 “10 THINGS I HATE ABOUT MAOHAI บ้านนี้หมาไม่เห่า” ของ “พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด” และรองชนะเลิศอันดับ 2 “My playlist KANIS x Whal&Dolph” ของ “KANIS”
ประเภทนวนิยาย ชนะเลิศ “หมาป่ากลางมหาสมุทร” ของ “ประชาคม ลุนาชัย” รองชนะเลิศอันดับ 1 “หนึ่งนับวันนิรันดร” ของ “กิตติศักดิ์ คงคา” และรองชนะเลิศอันดับ 2 “Z Diary” ของ “พัณณิดา ภูมิวัฒน์”
ประเภทรวมเรื่องสั้น ชนะเลิศ “สู่อนาคตกาล” ของ “อุเทน พรมแดง” รองชนะเลิศอันดับ 1 “เรายังยิ้มได้ ดอกไม้ยังแย้มบาน” ของ “อุเทน พรมแดง” และรองชนะเลิศอันดับ 2 “ทัศนียภาพที่เคลื่อนไหล” ของ “นรเศรษฐ์ ทับทิมทอง”
ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน รางวัลชนะเลิศ “เหมือนหั่นหัวหอม” ของ “สองขา” รองชนะเลิศอันดับ 1 “เจ้าปลาสายรุ้ง” ของ “วรรณมันตา” รองชนะเลิศอันดับ 2 “โคโค่กับนกฟีนิกซ์ที่หายไป” ของ “วงเวลา” และหนังสือแนะนำจำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ “คลองที่แสงดาวเต็มฝั่ง” ของ “ภาณุมาศ ภูมิภาวร”, “ญิฮาดในรัฐอิสลาม” ของ “สามารถ ทองเฝือ” และ “มหัศจรรย์ พรรณพฤกษ์ (อยู่วังสระปทุม 3)” ของ “สุมาลี”
ประเภทสารคดี ชนะเลิศ “กุหลาบเปอร์เชียในแดนสยาม” ของ “กุสุมา รักษมณี” รองชนะเลิศอันดับ 1 “Ultraman เส้นชัยไร้เหตุผล” ของ “นิ้วกลม” รองชนะเลิศอันดับ 2 “แม่นาก ภาคสมบูรณ์ : MAE NAK CLASSICAL GHOST OF SIAM” ของ “เอนก นาวิกมูล” และหนังสือแนะนำจำนวน 5 ผลงาน ได้แก่ “ควอนตัม จากแมวพิศวง… สู่ควอนตัมคอมพิวเตอร์” ของ “บัญชา ธนบุญสมบัติ”, “ประวัติศาสตร์แมว : A HISTORY OF CATS” ของ “ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล”, “แม่ ฉัน และอัลไซเมอร์” ของ “ชลจร จันทรนาวี”,“ราษฎรปฏิวัติ : ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร” ของ “ณัฐพล ใจจริง” และ “เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย” ของ “นักรบ มูลมานัส”
ขณะที่ รางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ชนะเลิศ “ฤดูฝูงผึ้งป่าอดอยาก” ของ “ณรงค์ชัย แสงอัคคี” และรองชนะเลิศอันดับ 1 “คำ | สาร | ภาพ” ของ “วรพจน์ ทรัพย์เมฆ” ทั้งนี้ รางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดการ์ตูน หมวดนวนิยายขนาดสั้น และหมวดรวมเรื่องสั้นไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัล
รางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศ “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ทั้ง 6 ประเภท จะได้รับรางวัลเงินสด 100,000 บาท พร้อมโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ส่วนประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ ผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเงินสด 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
ซีพี ออลล์ ได้เตรียมเปิดรับผลงานจากนักเขียนและสำนักพิมพ์เข้าประกวดในครั้งที่ 21 ทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่ ประเภทกวีนิพนธ์ การ์ตูน นวนิยาย รวมเรื่องสั้น วรรณกรรมสำหรับเยาวชน สารคดี (ทั่วไป) และรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ (4 หมวด คือ กวีนิพนธ์ การ์ตูน นวนิยายขนาดสั้น และรวมเรื่องสั้น) ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อยู่ระหว่างดำเนินการ) และเงินรางวัล 100,000 บาท (สำหรับรางวัลชนะเลิศ ยกเว้นประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์) โดยเปิดรับผลงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 – วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.csrcpall.com