มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ลงนามความร่วมมือกับ SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยทั้งสองสถาบันจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) ทั้งในรูปแบบ หลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E – learning) ระบบออนไลน์ (Online Learning ) แบบห้องเรียน (Classroom Learning) และรูปแบบอื่นๆ ให้กับกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ นักศึกษา บุคลากรในภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม และบุคคลทั่วไป โดยมุ่งเน้นการยกระดับและสร้างกำลังคนคุณภาพที่ผสมผสานทั้งทักษะด้าน Hard Skills (ความรู้เชิงเทคนิค) และ Hyper-Relevant Skills (ความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน) ให้เป็นที่ต้องการ สู่ตลาดแรงงานไทยและภูมิภาคอาเซียน ผ่านการจัดรูปแบบการเรียนรู้ที่คล่องตัว ทันสมัยและตรงกับความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลายมากขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า “โลกยุคใหม่ต้องการนิยามใหม่ของ “นักศึกษา” โครงสร้างประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นและยังมีศักยภาพ หรือคนในวัยทำงานกว่า 38 ล้านคนก็ต้องการยกระดับศักยภาพของตนเองเพื่อให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนตลอดเวลา มหาวิทยาลัยจึงเปิดโอกาสให้ทุกคนมาเรียนรู้ทักษะใหม่ (reskill) หรือ ต่อยอดยกระดับทักษะ (up-skill) ซึ่งมหาวิทยาลัยจะมองแต่ผู้เรียนที่จบ ม.6 ไม่ได้ แต่ต้องมองคนที่อยู่ในระบบการทำงานแล้วด้วย เพราะคนทุกคน มีความหมายและเป็นผู้นำที่สามารถสร้างงานที่มีคุณค่าและมูลค่ามากขึ้นกว่าเดิมและเป็นประโยชน์ให้สังคมได้ สมการใหม่ของระบบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยจะผ่านพ้นกรอบของ “เวลา” แบบเดิมๆ คือนอกจากมิติของอายุของนักศึกษาที่นับจากนี้จะเปิดรับผู้เรียนรู้ทุกช่วงวัยหลายเจเนอเรชั่นแล้ว รูปแบบหลักสูตรการเรียนการสอนก็จะไม่ถูกจัดแบ่งเป็นภาคการศึกษา จำนวนหน่วยกิต รวมทั้งวิธีการวัดผลด้วยการสอบแบบเดิมก็ต้องปรับตามไปด้วย”
นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (Southeast Asia Center) กล่าวว่า “ด้วยโจทย์พันธกิจของ SEAC ในเรื่อง EMPOWER LIVING เรายังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของคนไทยผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเพิ่มคุณค่าและตอบโจทย์ทุกเป้าหมายของการใช้ชีวิตให้คนไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบ สถานการณ์ปัจจุบันหลายอย่างสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการ คือเรื่องการยกระดับศักยภาพและพัฒนาทักษะของคนไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบัน (Hyper-relevant Skills) เพื่อเป็นพลวัตรสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและประเทศไปข้างหน้า เราจึงเดินหน้าสรรหาพันธมิตรที่มีมาตรฐาน มีความเชี่ยวชาญและมีเจตนารมณ์เดียวกับเราเพื่อร่วมกัน Reskill และ Upskill ซึ่งจุดนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายให้ทั้ง มจธ. และ SEAC ต้องการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรที่จะสามารถพัฒนานักศึกษา หรือสร้างนักศึกษาที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่โลก ของการทำงานให้พร้อมทั้งวิชาชีพ และวิชาชีวิต ทั้ง Mindset และ Skillset ที่จะนำไปสู่โอกาสมากมายในการทำงาน ช่วยให้สามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้ในมหาวิทยาลัยกับบริบทที่จะได้เจอจากการทำงาน สร้างให้คนเหล่านี้เป็น Preferred Choices หรือเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อช่วยให้เติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศ”
“การจัดการศึกษาในยุคปัจจุบัน ต้องเน้นสร้างศักยภาพให้ผู้เรียนเอาความรู้มาใช้ทำงานและประยุกต์กับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา มนุษย์เรามีทักษะต่างกัน ต้องการระยะเวลาเรียนต่างกัน เราจะดูให้เขาเรียนจนทำได้และทำเป็น ซึ่งการวัดผลก็จะเป็นตามวิทยฐานะ (Credentials) ว่าทักษะของนักศึกษาในระดับนี้ทำอะไรได้และในคุณภาพอย่างไร ซึ่งที่สุดของการออกนอกกรอบของเวลาก็คือการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด มหาวิทยาลัยจะพร้อมรองรับคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็ก ถึงวัยหลังเกษียณ จะมีการเรียนการสอนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา ผู้สนใจ ใฝ่รู้ หรือ แม้แต่ผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว ขาดวุฒิ ก็เข้าที่มหาวิทยาลัยได้ เพื่อหาสิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง ไม่จำเป็นต้องมาเป็นนักศึกษาแบบเดิมๆ คือ 4-5 ปี ต่อจากนี้ ผู้สนใจจะเข้ามาเรียนเมื่อสนใจ ได้ทักษะและก็ออกไปทำงาน เมื่อทำงานคิดว่าต้องการทักษะเพิ่มขึ้น ก็กลับมาเรียนเพิ่มได้เรื่อยๆ เป็น Lifetime University คือ “มหาวิทยาลัยเพื่อให้การเรียนรู้ตลอดชีวิต” รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย กล่าว
นางอริญญา กล่าวเสริมว่า “SEAC มุ่งมั่นให้คนไทยสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการ “ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ SEAC เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต” นั้น SEAC ภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาขีดความสามารถ คนไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษา หรือจะเป็นกลุ่มบุคลากร ในภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม และบุคคลทั่วไปที่จะมาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตในโครงการนี้ นอกจากนั้นเรายังมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและทักษะการสอนของเราที่ตอบโจทย์โลกปัจจุบัน เพื่อร่วมสร้างและพัฒนานักวิจัยไทย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) อาจารย์เกื้อหนุนสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist Facilitator) ที่ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มอาชีพที่สำคัญต่อโลกอนาคตและมีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่ออัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้มีศักยภาพและคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้นอกจากเราจะมุ่งพัฒนาคนไทยแล้ว เรายังมีแผนจะร่วมมือกันเดินหน้าเพื่อขยายฐานผู้เรียนไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย”
ความร่วมมือเป็นพันธมิตรกันระหว่าง มจธ. และ SEAC มีขอบเขตภายใต้โครงการ “สร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริม การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)” เป็นระยะเวลา 3 ปี ระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน 2563 – 17 มิถุนายน 2566 โดยในปีแรกจะมีโครงการนำร่องภายในประเทศ อาทิ ร่วมมือกันออกแบบคอร์สเพื่อสร้างกลุ่มอาชีพใหม่ ป้อนภาคการศึกษา ได้แก่ Online Instructional Designer (นักออกแบบการสอนแบบออนไลน์), Virtual Learning Facilitator (อาจารย์เกื้อหนุนสำหรับการเรียนแบบออนไลน์) และ Data Scientist Facilitator (อาจารย์เกื้อหนุนด้าน Data Science) นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรด้าน Business Mindset ให้กับบุคลากร สายวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ซึ่งทักษะและแนวคิดด้านธุรกิจเป็นส่วนสำคัญที่ควรถูกเติมเต็มให้กับกลุ่มบุคลากรสายนี้ รวมทั้ง ยังมีแผนการใช้หลักสูตรออนไลน์สำหรับจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนขนาดใหญ่ เพื่อรองรับ การเปลี่ยนแปลงในเรื่องการจัดการห้องเรียนภายใต้นโยบาย Social Distancing เป็นต้น สำหรับปีต่อๆ ไป ทั้ง มจธ. และ SEAC มีแผนบุกตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดเส้นแบ่งเขตแดนของการศึกษาและแรงงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพของกำลังคนให้มีคุณภาพทัดเทียมกัน เพิ่มขีดความสามารถของแรงงานในภูมิภาค และจะแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำของโลกต่อไป
การลงนามความร่วมมือนี้นับเป็นก้าวสำคัญของวงการศึกษาและวงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในหลายๆ มิติ ที่สถาบันการศึกษาของภาครัฐจับมือกับองค์กรด้านการเรียนรู้ภาคเอกชนเพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกำลังคนคุณภาพให้กับประเทศไทย ผสานความเข้มแข็งของทั้งสององค์กร ลดปัญหาแรงงานไม่มีคุณภาพ หรือ การผลิตคน ไม่ตรงกับความต้องการ รวมทั้งปัญหาการว่างงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป