กรุงเทพฯ 20 พฤศจิกายน 2566 – ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ตอกย้ำจุดยืน STANDBY เคียงข้างผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอี จัดโครงการอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี รุ่นที่ 1 “Micro MBA” โดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เพื่อเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอี
โดย นายนาธัส กฤตวรานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริหารธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ธนาคารไทยเครดิต พร้อมด้วย ผศ.ดร.ปิยะ งามเจริญมงคล ผู้อำนวยการโครงการ Professional MBA และอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องอบรม ศูนย์นวัตกรรมทางธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
นายนาธัส กฤตวรานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริหารธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การทำธุรกิจในปัจจุบันมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดเขตการค้าเสรีต่างๆ ทำให้มีคู่แข่งรายใหม่ๆ ในตลาดมากขึ้น หรือความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคในหลายด้าน ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างทัดเทียม ธนาคารไทยเครดิตจึงได้จัดโครงการอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี รุ่นที่ 1 “Micro MBA” ให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มทักษะ อัปเดตข้อมูลความรู้ใหม่ๆ เป็นเครื่องมือเสริมแกร่งในการดำเนินธุรกิจและแข่งขันในตลาด อีกทั้งยังเป็นการขอบคุณลูกค้าที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ SME กล้าให้ ของธนาคารฯ”
“ที่สำคัญการจัดอบรมในครั้งนี้ยังถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้เข้าอบรมในการหาพันธมิตรใหม่ๆ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของธนาคารฯ ที่ต้องการให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีที่แข็งแกร่ง ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธนาคารฯ ที่พร้อม STANDBY เคียงข้างลูกค้าไมโครเอสเอ็มอีทุกช่วงเวลา เป็นที่พึ่งพิงในช่วงเวลาที่ยากลำบาก หรือเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น” นายนาธัส กล่าว
โครงการอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี รุ่นที่ 1 “Micro MBA” มุ่งเน้นความรู้ด้านกลยุทธ์การตลาดในยุคดิจิทัล และกลยุทธ์การบัญชี ออกแบบและพัฒนาหลักสูตรโดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ใช้การบรรยายทฤษฎีแนวทางปฏิบัติที่ทันสมัย ร่วมกับการทำเวิร์กช็อป โดยรวบรวมปัญหาที่พบ ระดมสมอง วิเคราะห์ปัญหา อภิปราย และยกตัวอย่างประกอบจากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง อบรมโดยวิทยากรซึ่งเป็นคณาจารย์จากคณะบริหารธุรกิจ และคณะอื่นๆ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในวันที่ 18 และ 25 พฤศจิกายน และ 2 ธันวาคม 2566 รวม 3 วัน ณห้องอบรม ศูนย์นวัตกรรมทางธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์