นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำหรับระยะ 1-3 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และศักยภาพของลูกหนี้ในการทำธุรกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลาย และในระหว่างที่ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนใหม่นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานในปี 2563 รวมถึงงดการซื้อหุ้นคืนนั้น เป็นมาตรการเพื่อให้มั่นใจว่า ธนาคารพาณิชย์จะรักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การงดจ่ายเงินปันผลข้างต้นนั้น จะเป็นเฉพาะเงินปันผลเฉพาะกาล ไม่ใช่การจ่ายเงินปันผลรายปีที่ธนาคารพาณิชย์ยังพิจารณาจ่ายได้ตามสมควร นอกจากนี้ แนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ถือว่าสอดคล้องกับความเห็นและแนวทางที่เสนอโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษ ที่มองว่าธนาคารพาณิชย์ควรให้น้ำหนักกับการสะสมทุนให้เข้มแข็งเพื่อรองรับเหตุการณ์เสี่ยงในภาวะวิกฤตระดับโลก (Pandemic) ในปัจจุบัน ตลอดจนเพื่อให้สามารถทำหน้าที่หลักในการให้สินเชื่อกับภาคธุรกิจและครัวเรือน และรับมือกับภาระการตั้งสำรองสำหรับหนี้ด้อยคุณภาพที่จะเพิ่มขึ้น ด้วยการงดกิจกรรมอื่น ๆ ที่กระทบต่อเงินกองทุน อาทิ การจ่ายเงินปันผล หรือการซื้อหุ้นคืน แม้ระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร จะมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในปี 2563 สูงถึงร้อยละ 18.4 และกว่าร้อยละ 20 ตามลำดับ ก็ตาม นอกจากนี้ IMF ยังมองว่าทางเลือกดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุนผ่านผลตอบแทนที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มีระดับเงินกองทุนที่เข้มแข็ง โดย ณ สิ้นเมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,616,162 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ร้อยละ 18.9 ซึ่งนับว่ามีความเข้มแข็งกว่าเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรงขั้นต่ำของ ธปท.ที่ร้อยละ 11.0 (ระดับเงินกองทุนขั้นต่ำที่ร้อยละ 8.5 และ Conservation Buffer ร้อยละ 2.5) และสูงกว่ามาตรฐานสากลของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ที่ร้อยละ 10.5 ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็มีการวางแผนเพื่อบริหารจัดการเงินกองทุนเป็นปกติประจำอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยก็ยังมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ซึ่งเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจตามปกติ รวมไปถึงรองรับการชำระคืนเงินฝากแก่ประชาชน ตลอดจนหุ้นกู้ให้แก่นักลงทุน โดยระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีสินทรัพย์สภาพคล่องที่ใกล้เคียงเงินสด อาทิ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและพันธบัตรรัฐบาลถึง 4.38 ล้านล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับความต้องการถอนเงินและใช้เงินในระยะสั้นจากทั้งภาครัฐและเอกชน (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อีกทั้งยังสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยถึง 1.8 เท่า
“ด้วยสถานะทุนและสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ที่เข้มแข็งในระดับมาตรฐานโลก ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังสามารถทำหน้าที่สำคัญในการขยายสินเชื่อ ช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาทุกกลุ่ม และดูแลจัดการปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ ขณะเดียวกันมาตรการต่างๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ไปได้เช่นกัน ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเราจะผ่านพ้นเหตุการณ์ในครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายปรีดีกล่าว