ปริมาณความต้องการทองคำของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่งท่ามกลางราคาทองคำที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทองคำแท่งและเหรียญทองคำสำหรับการลงทุนเติบโตอย่างแข็งแกร่งในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ขณะที่ความต้องการทองคำเครื่องประดับของไทยลดลง
รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำหรือ Gold Demand Trends จาก สภาทองคำโลก (World Gold Council) สำหรับไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ระบุว่า ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสำหรับการลงทุนของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ความต้องการทองคำผู้บริโภค (Consumer Gold Demand) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วแม้ว่าราคาทองคำได้พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่ปริมาณความต้องการทองคำทั่วโลกที่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter หรือ OTC) ได้เพิ่มขึ้น 3% อยู่ที่จำนวน 1,238 ตัน ซึ่งถือเป็นไตรมาสแรกของปีที่เติบโตแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ด้านความต้องการทองคำทั่วโลกที่ไม่รวมตลาด OTC ได้ลดลง 5% อยู่ที่จำนวน 1,102 ตัน สำหรับไตรมาสที่ 1 ของปี 2567
ปริมาณความต้องการทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกมีสาเหตุหลักมาจากการลงทุนที่แข็งแกร่งของตลาด OTC[1] รวมถึงการซื้อทองคำของธนาคารกลางที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผู้ซื้อในภูมิภาคเอเชีย ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้ราคาทองคำทำสถิติเฉลี่ยรายไตรมาสสูงขึ้นอยู่ที่ 2,070 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้
ธนาคารกลางต่าง ๆ ยังคงซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง จากสถิติอย่างเป็นทางการธนาคารกลางทั่วโลกได้ถือครองทองคำเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 290 ตันในไตรมาสนี้ การซื้อที่คงที่ สม่ำเสมอ และเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ ได้เน้นย้ำความสำคัญของทองคำในพอร์ตการลงทุนของทุนสำรองระหว่างประเทศ ท่ามกลางสภาวะความผันผวนของตลาดและความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น
ด้านสถานการณ์ของทองคำสำหรับการลงทุน พบว่าปริมาณการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา และยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 อยู่ที่ปริมาณ 312 ตัน สำหรับประเทศไทยมีปริมาณการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำเพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับปีแล้ว ที่จำนวน 5.9 ตัน โดยราคาทองคำในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าอัตราในต่างประเทศ เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2567
สำหรับกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำแท่งสำหรับนักลงทุน กระแสการลงทุนยังคงไหลออกอย่างต่อเนื่องโดยปริมาณการถือครองทองคำของ ETF ทั่วโลกลดลง 114 ตัน นำโดยกองทุนในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป อย่างไรก็ตามปริมาณทองคำที่ลดลงนี้ได้รับการชดเชยเล็กน้อย จากกระแสการไหลเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนทองคำต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ทวีปเอเชีย โดยมีจีนเป็นผู้สร้างการลงทุนที่สำคัญ นักลงทุนได้กลับมาสนใจทองคำอีกครั้งเนื่องจากค่าเงินของแต่ละประเทศที่อ่อนลง และผลประกอบการที่ต่ำของตลาดตราสารทุนภายในประเทศ
ปริมาณความต้องการในตลาดทองคำเครื่องประดับทั่วโลกยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าราคาทองคำได้เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก็ตาม โดยได้ลดลงเพียง 2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ความต้องการทองคำในทวีปเอเชียได้ช่วยพยุงปริมาณที่ปรับลดลงในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือไว้ ปริมาณความต้องการทองคำเครื่องประดับของทั้งประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ต่างลดลงในระดับที่ใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยประเทศไทยมีความต้องการลดลง 10% อยู่ที่ 1.9 ตัน เวียดนามลดลง 10% เป็น 4.1 ตัน และอินโดนีเซียลดลง 12% อยู่ที่ 5.5 ตัน เนื่องจากราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ซึ่งทำให้ความต้องการในภูมิภาคลดลง
นอกจากนี้แล้ว ความต้องการทองคำในภาคเทคโนโลยีได้ฟื้นตัวขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงผลักดันจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ AI ในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
ในด้านของอุปทาน การผลิตทองคำจากเหมืองแร่เพิ่มสูงขึ้น 4% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 893 ตัน ซึ่งเป็นสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ของการผลิตในไตรมาสแรก ในขณะที่ปริมาณการรีไซเคิลทองคำเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นถึง 12% จากไตรมาสแรกของปี 2566 อยู่ที่ 351 ตัน เนื่องจากนักลงทุนบางรายมองว่าราคาทองที่สูงเป็นโอกาสดีสำหรับการทำกำไร
เซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางทั่วโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “แม้ว่าราคาทองคำได้เพิ่มขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกัน ในไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดทองคำเครื่องประดับ แต่ความต้องการทองคำผู้บริโภคโดยรวมในประเทศไทยก็ยังคงเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำที่เพิ่มมากขึ้น เราพบว่าปริมาณความต้องการทองคำเครื่องประดับในประเทศไทยปรับลดลงในช่วงที่ราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ยังนำไปสู่การรีไซเคิลทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย”
หลุยส์ สตรีท (Louise Street) นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโส ของสภาทองคำโลก แสดงความเห็นว่า “ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาราคาทองคำได้ไต่ขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ต้องเผชิญกับแรงต้านจากวิเคราะห์แบบดั้งเดิม ซึ่งคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่า และอัตราดอกเบี้ยที่พิสูจน์แล้วว่าจะยังคงระดับสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม”
“ปัจจัยหลายประการอยู่เบื้องหลังการพุ่งขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมหภาคที่ยังคงมีอยู่ ผลักดันให้ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงความต้องการทองคำจากธนาคารกลางที่ยืนหยัดอย่างต่อเนื่องและมั่นคง การลงทุนในตลาด OTC ที่แข็งแกร่ง และการซื้อสุทธิที่เพิ่มขึ้นในตลาดอนุพันธ์ต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้ราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น”
“สิ่งที่น่าสนใจคือเรากำลังมองเห็นแนวโน้มพฤติกรรมของนักลงทุนชาวตะวันออกและตะวันตกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปกตินักลงทุนในตลาดตะวันออกจะมีความอ่อนไหวต่อราคามากกว่า โดยมักรอช่วงที่ราคาทองคำลดลงเพื่อหาจังหวะซื้อ ในขณะที่นักลงทุนชาวตะวันตกมักถูกดึงดูดด้วยราคาที่สูงขึ้นและมีแนวโน้มที่จะซื้อในช่วงที่ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ในไตรมาสแรกของปีเราเห็นว่าบทบาทนี้กลับสลับกัน เนื่องจากความต้องการลงทุนในตลาดต่าง ๆ เช่น จีนและอินเดีย เติบโตอย่างมากในช่วงที่ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น”
หลุยส์ กล่าวเสริมว่า “เมื่อมองไปข้างหน้าในปี 2567 มีแนวโน้มที่ทองคำจะสร้างผลตอบแทนแข็งแกร่งกว่าที่เราได้คาดการณ์ไว้เมื่อตอนต้นปี จากผลการดำเนินงานที่ดีในช่วงที่ผ่านมา หากระดับราคาลดต่ำลงในช่วงเดือนต่อจากนี้ผู้ซื้อที่อ่อนไหวต่อราคาบางรายอาจกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง และนักลงทุนจะยังคงมองหาทองคำเพื่อเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยต่อไป ในช่วงที่พวกเขาต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยและผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น”
[1] การซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter หรือ OTC) เกิดขึ้นโดยตรงผ่านการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสองฝ่าย ซึ่งแตกต่างจากการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ที่ดำเนินการผ่านศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการ