นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการคุณสู้ เราช่วย เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ซึ่งเป็นการประสานบทบาทของภาครัฐ ภาคเอกชน และลูกหนี้ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมแถลงข่าว โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ร่วมด้วย ณ ห้องภัทรรวมใจ ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567
สถาบันการเงินของรัฐ พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และ ธปท. ในการสนับสนุนโครงการคุณสู้ เราช่วย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ และยังมีการออกแบบกลไกการส่งเสริมวินัยทางการเงินควบคู่กับการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้ ผ่านมาตรการต่าง ๆ ประกอบด้วย (1) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้-เน้นตัดต้นเงิน สำหรับกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อบ้าน ลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์ และ ลูกหนี้ SMEs และ (2) มาตรการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ NPLs ที่มีภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 5,000 บาท โดยจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ที่ลึกมากกว่าปกติ เพื่อให้สามารถหลุดพ้นจากสถานะหนี้ NPLs และไม่เสียประวัติเครดิต
นอกจากนี้ สถาบันการเงินของรัฐยังได้จัดทำมาตรการเพิ่มเติม เพื่อขยายความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้กลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นลูกหนี้กลุ่มที่ไม่ซ้ำกับลูกหนี้ของโครงการนี้ เช่น การแก้หนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มอื่น การลดดอกเบี้ย การลดเครดิตเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยใช้เงินส่วนต่างจากที่ได้รับการปรับลดการนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) ที่ลดลงเหลือ 0.125% เข้ามาชดเชย เป็นระยะเวลา 1 ปี ดำเนินการโดยสถาบันการเงินของรัฐ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังอยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ของกลุ่ม Non-bank ด้วย ทั้งนี้ คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติที่ได้รับความช่วยเหลือผ่าน 2 มาตรการของสถาบันการเงินของรัฐ จำนวนกว่า 6 แสนบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 4.5 แสนล้านบาท