กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ “Symposium 2020” ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Digital Logistics” ระหว่างวันที่ 27 – 28 สิงหาคม 2563 เวลา 14.00 – 17.30 น. ณ ห้อง Auditorium ทรู ดิจิทัล พาร์ค กรุงเทพฯ และถ่ายทอดสดผ่านระบบ Webinar (Zoom) พร้อมกันทั่วโลก โดยสามารถรับฟังคำบรรยายได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ดำเนินการตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการเร่งพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการสู่ตลาดโลก จึงจัดให้มีการประชุมนานาชาติด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านธุรกิจโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสมรรถนะผู้ให้บริการโลจิสติกส์และผู้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Digital Logistics” หรือการปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลภายใต้สถานการณ์ Covid-19 ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาและปรับตัวเพื่อก้าวผ่านวิกฤติการณ์นี้ไปได้
Symposium 2020 ปีนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มาร่วมบรรยาย ได้แก่
Mr. Mark Millar ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ระดับโลกและผู้เขียนหนังสือ Global Supply chain Ecosystem บรรยายเรื่อง “ดิจิทัลโลจิสติกส์ และเทรนด์ของโลจิสติกส์ในปี 2020-2023”
Mr. Keewee NG เจ้าของรางวัล “Supply Chain Professional of the Year 2019” Jabil Vice President Global Supply Chain Management จากประเทศสิงคโปร์ บรรยายเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการนำดิจิทัลเข้ามาใช้ในธุรกิจโลจิสติกส์
MS. K D Adamson ผู้ก่อตั้งบริษัท Futurenautics ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และนักวางแผน
การขนส่งทางน้ำระดับโลก จากประเทศอังกฤษ บรรยายหัวข้อ การดำเนินธุรกิจในโลกยุคใหม่ที่เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศไม่มีผลกับการแข่งขัน ด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการสื่อสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณเป็นต่อคู่แข่ง
Mr. Parag Khanna เจ้าของรางวัล Young Global Leader of the World Economic Forum, TED talk Speaker ผู้ถูกจัดอันดับเป็น 1 ใน 75 ผู้ทรงอิทธิพลของศตวรรษที่ 21 จากประเทศสหรัฐอเมริกา บรรยายหัวข้อ “ทำอย่างไรให้ธุรกิจไปต่อได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน” และเราจะเตรียมธุรกิจเราให้พร้อมได้อย่างไร สำหรับอนาคตที่กำลังจะถึงนี้
และพบกับเวทีเสวนาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากดิจิทัลที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ได้รับเกียรติจากผู้แทนองค์กรธุรกิจด้านโลจิสติกส์แนวหน้าของเมืองไทยและของโลกอย่าง นายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ จากบริษัท Sealand – A Maersk ร่วมด้วย Mr. Kevin Burrell จากบริษัท DHL ผู้ให้บริการรับส่งพัสดุระดับโลก และนายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท Leo Global Logistics เจ้าของรางวัล Excellent Logistics Management Award Winner 2019 (ELMA) และ Prime Minister’s Award in Logistics Service Enterprise 2019 ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดต่อการดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ในยุค 2020 ในการเสวนาครั้งนี้
นายมาร์ค มิลล่า Mr.Mark Millar ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ระดับโลก กล่าวถึงทิศทางสถานการณ์ของธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยในระยะ 3 ปี (2563-2565) ว่า สำหรับดิจิทัลโลจิสติกส์ในประเทศไทยนั้น เชื่อว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากหลากหลายปัจจัย อาทิ มีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมากมาย รวมถึงการปรับตัวโดยการนำดิจิทัลโลจิสติกส์มาประยุกต์ใช้ ส่งผลให้ไทยมีเศรษฐกิจและผลประกอบการเป็นอันดับ 2 ภูมิภาคอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ อีกทั้งยังสะท้อนจากจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยกว่า 37 ล้านคน ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโต และธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตตามไปด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของอุปสรรคในการดำเนินการธุรกิจโลจิสติกส์ Mr.Mark กล่าวว่า ถ้ามองในภาพรวมดิจิทัลโลจิสติกส์ อ้างอิงจากผลสำรวจในด้านการขนส่งดิจิทัล พบว่า มี 5 อุปสรรค และเป็นเหตุผลหลักในการดำเนินการ ประกอบด้วย 1.งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด 2.วัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะในเรื่องของการไม่ปรับเปลี่ยน 3.ไม่มีทักษะทางด้านเทคนิค 4.ทักษะการเป็นผู้นำในองค์กร และ 5.โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ครอบคลุม
ขณะที่ นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติก ส์ จำกัด (มหาชน) และอดีตนายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางอากาศ ที่ทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น 3-5 เท่าจากในช่วงสถานการณ์ปกติ จึงเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ จะต้องมองหารูปแบบการขนส่ง เพื่อปรับโหมดไปยังการขนส่งสินค้าทางเรือมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าและยังเปิดให้บริการตามปกติ นอกจากนี้ ในเรื่องการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ก็เป็นสิ่งสำคัญด้วย อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า สถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติในอีกประมาณ 1-2 ปีนับจากนี้