ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) มอบหมายให้ นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการภาคอาวุโส สำนักงาน คปภ.ภาค 6 (ชลบุรี) ลงพื้นที่เพื่อติดตามการช่วยเหลือเยียวยาด้านการประกันภัยกรณีการเกิดอุบัติเหตุรถไฟบรรทุกสินค้าเฉี่ยวชนกับรถบัสโดยสาร หมายเลขทะเบียน 30-1476 พระนครศรีอยุธยา นำผู้โดยสารเดินทางจากจังหวัดสมุทรปราการ ไปทอดกฐิน ณ วัดบางปลานัก จังหวัดฉะเชิงเทรา ทำให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 18 ราย บาดเจ็บ 41 ราย ซึ่งสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ได้เร่งช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการนำระบบประกันภัยเข้าไปเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่บูรณาการร่วมกับจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิต โดยมีนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมเป็นสักขีพยานในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนและกล่าวแสดงความเสียใจพร้อมให้กำลังใจแก่ทายาทผู้เสียชีวิตที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ณ ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ
นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการ คปภ. ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กล่าวว่า สำหรับรถบัสโดยสาร หมายเลขทะเบียน 30-1476 พระนครศรีอยุธยา ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และได้ทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 3) ไว้กับ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดังนั้น จึงได้เร่งประสานบริษัทประกันภัยและทายาทผู้เสียชีวิต เพื่อช่วยเหลือเยียวยาด้านการประกันภัยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด โดยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการลงพื้นที่บูรณาการร่วมกับจังหวัดสมุทรปราการและบริษัทประกันภัย เพื่อจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิต ที่เป็นผู้โดยสาร 3 ราย ๆ ละ 673,103.44 บาท จากกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 311,551.72 บาท โดยเป็นการจ่ายตามหลักการเฉลี่ยจ่ายภายในวงเงินความคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง เนื่องจากผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมีจำนวนมาก และจ่ายจากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจ หมวดความรับผิดต่อบุคคลภายนอก จำนวน 311,551.72 บาท ซึ่งใช้หลักการเฉลี่ยจ่ายภายในวงเงินความคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง และสัญญาแนบท้ายอุบัติเหตุส่วนบุคคล 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,019,310.32 บาท
ทั้งนี้ จากการประสานงานข้อมูลในพื้นที่ พบว่า ผู้ประสบภัยมีภูมิลำเนาอยู่ในหลายจังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ พิษณุโลก พิจิตร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม หนองคาย ขอนแก่น รวมถึงผู้ประสบภัยที่เป็นชาวพม่า จึงได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัดที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อประสานทายาทผู้เสียชีวิตและติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมถึงการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือเยียวยาด้านการประกันภัยโดยเร็วที่สุด
ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2563 บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตแต่ละรายตามภูมิลำเนาแล้ว รวมทั้งสิ้น 11 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 6,816,034.40 บาท แยกเป็นผู้โดยสาร 10 ราย ๆ ละ 673,103.44 บาท จากกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 311,551.72 บาท โดยเป็นการจ่ายตามหลักการเฉลี่ยจ่ายภายในวงเงินความคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง เนื่องจากผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมีจำนวนมาก และจ่ายจากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจ หมวดความรับผิดต่อบุคคลภายนอก จำนวน 311,551.72 บาท โดยใช้หลักการเฉลี่ยจ่ายภายในวงเงินความคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง และสัญญาแนบท้ายอุบัติเหตุส่วนบุคคล 50,000 บาท และผู้ขับขี่ 1 ราย เป็นเงิน 85,000 บาท จากกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 35,000 บาท และสัญญาแนบท้ายอุบัติเหตุส่วนบุคคล จำนวน 50,000 บาท สำหรับผู้เสียชีวิตรายอื่นนอกเหนือจากนี้อยู่ระหว่างรอความพร้อมของทายาทผู้เสียชีวิต รวมถึงผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวพม่า โดยได้ประสานทายาทผู้เสียชีวิตผ่านทางเจ้าหน้าที่สถานทูตของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งบริษัทประกันภัยได้เตรียมความพร้อมในการจ่ายไว้ด้วยแล้ว สำหรับผู้บาดเจ็บได้รับการรักษาและกลับบ้านแล้ว จำนวน 33 ราย นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 8 ราย โดยบริษัทผู้รับประกันภัยได้เข้ารับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลเรียบร้อยแล้ว
“สำนักงาน คปภ. จะร่วมบูรณาการกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อนำระบบประกันภัยเข้าช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วน ถูกต้องตามสัญญาประกันภัย และขอขอบคุณภาคธุรกิจประกันภัยที่ทุ่มเทสรรพกำลังในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือเยียวยาความสูญเสียให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ อันนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัยจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน” รองเลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย