ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ไตรมาส 3 ปี 2563 ผู้ประกอบการบริษัทมหาชนขาดความเชื่อมั่นติดต่อกัน 4 ไตรมาส แต่คาดหวังไตรมาส 1 ปี 2564 ตลาดเริ่มฟื้น กำลังซื้อกลับมาเกือบปกติ
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ไตรมาส 3 ปี 2563 มีค่าเท่ากับ 42.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 42.6 แต่ต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 (ค่าดัชนีต่ำกว่า 50.0 ต่อเนื่องมา 4 ไตรมาส 4 ปี 2562) แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน แต่มีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกสองของไทยมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง แต่ยังมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
เมื่อแยกกลุ่มผู้ประกอบการฯ ตามประเภทบริษัทพบว่า ความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 43.1 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 45.7 ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 42.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 38.0 แต่ยังต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 (ดูตารางที่ 1 และแผนภูมิที่ 1)
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) มีค่าเท่ากับ 52.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.8 ปรับตัวดีขึ้นและสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะปรับตัวดีขึ้น และอาจมีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 และกำลังซื้อที่อยู่อาศัยกลับมาใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติ รวมทั้งคาดหวังว่ารัฐบาลจะต่ออายุมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อไป
ทั้งนี้ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 58.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.0 และผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 45.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 44.1 (ดูตารางที่ 2 และแผนภูมิที่ 2) ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาจากความมั่นใจว่ายอดขายจะปรับเพิ่มขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า รวมทั้งคาดว่าจะมีการเปิดโครงการใหม่ต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ประกอบการนอกตลาดหลักทรัพย์ฯมีความเชื่อมั่นว่ายอดขายจะเพิ่มมากขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า และผลประกอบการจะดีขึ้น แต่มีแนวโน้มจะลดการเปิดตัวโครงการใหม่ลง