คปภ. จัดพิธีปัจฉิมนิเทศ ส่งท้ายการศึกษา “หลักสูตรอบรมสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) รุ่นที่ 1” ตกผลึกข้อเสนอแนะ โอกาสและความท้าทายที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ประชาชน และประเทศชาติ
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) รุ่นที่ 1 ณ โรงแรมคีรีมายา กอล์ฟ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดนครราชสีมา โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า หลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Thailand Insurance Super Leadership Program) หรือ หลักสูตร Super วปส. รุ่นที่ 1 เป็นหลักสูตรที่ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมเป็นผู้บริหารระดับสูง ผู้นำองค์กรจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นศิษย์เก่าหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง รุ่นที่ 1-9 ที่มีประวัติการเรียนดีเด่น เข้าร่วมกิจกรรมหลักสูตร วปส. อย่างสม่ำเสมอ หรือทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงาน คปภ. ซึ่งเป็นรุ่น Limited edition โดยมีเลขาธิการ คปภ.เข้าร่วมศึกษาอบรมในหลักสูตรนี้ด้วย รวมทั้งสิ้น 49 คน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และเพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมฯ มีส่วนร่วมในการออกแบบธุรกิจและร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการปฏิรูปอุตสาหกรรม เพิ่มบทบาทของระบบประกันภัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และการมองอนาคตเชิงกลยุทธ์ภายใต้วิธีการเรียนรู้ Strategic Foresight โดยเน้นการเข้าถึงความต้องการและตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริง โดยเริ่มการศึกษาอบรมตามหลักสูตรตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 และมีกำหนดจบการศึกษาตามหลักสูตรในเดือน ธันวาคม 2563
สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดพิธีปัจฉิมนิเทศหลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) รุ่นที่ 1 สำหรับนักศึกษาที่จบหลักสูตรดังกล่าว โดยมีกิจกรรมการนำเสนอผลงานการศึกษาทางวิชาการของนักศึกษา ตกผลึกข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายที่มีต่ออุตสาหกรรมประกันภัย ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ใช่เฉพาะภาคอุตสาหกรรมประกันภัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจอื่น ๆ ของประเทศ รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลอีกด้วย เนื่องจากข้อเสนอแนะมีความครอบคลุมทั้งประเด็นจุลภาคและมหัพภาคสอดคล้องกับแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 4 (ปี 2564 – 2568) ของสำนักงาน คปภ. อาทิ การพัฒนาระบบกฎหมายให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด (Disruptive Technology) ความท้าทายของโลกสมัยใหม่ต่อการพัฒนาระบบกฎหมายเพื่อบริหารจัดการและกำกับดูแลเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด (Disruptive Technology)
โดยเทคโนโลยีจะเข้ามาเกี่ยวข้องในทุกมิติ ซึ่งจะเป็นเรื่องท้าทายที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้น ภาคธุรกิจ หรือหน่วยงานกำกับดูแลที่บังคับใช้กฎหมาย จำเป็นต้องปรับวิธีการ การตีความ หรือการใช้กฎหมายให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น หรือการพัฒนากฎหมายอาจมีลักษณะเป็น Principle based สามารถทำให้กฎหมายนั้นทันสมัย ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทีมีอยู่ตลอดเวลา โอกาสของตลาดประกันภัยในสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ความจำเป็นในการวางแผนเตรียมการและการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ โอกาสและความท้าทายของผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เป็นต้น ซึ่งการนำเสนอรายงานการศึกษาทางวิชาการของนักศึกษาในครั้งนี้ เป็นการแสดงออกถึงการหล่อหลอมแนวความคิดต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมประกันภัยไทย ซึ่งจะได้มีการนำข้อสรุปต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาศึกษา ค้นคว้า เพื่อต่อยอดและขยายผลต่อไป
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. และนักศึกษา Super วปส. รุ่นที่ 1 ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อสังคม CSR เพื่อระดมทุนช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธ โดยนำสิ่งของที่ผู้ร่วมเข้าอบรมร่วมกันบริจาค ประกอบด้วย เครื่องวัดหัวใจ จำนวน 2 เครื่อง ถุงให้อาหารพร้อมสาย Line C ผ้าอ้อมสูงอายุไซส์ XL แบบสวม แผ่นรองเสริมผ้าอ้อม กระดาษชำระ อาหารทดแทน Glucerna สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หน้ากากอนามัย นมกล่อง กะทิกล่อง น้ำพริกซอสถั่วเหลือง น้ำมันพืช น้ำดื่ม และผ้าอาบน้ำพระสงฆ์ ส่งมอบให้แก่สำนักสงฆ์ป่ามะขาม ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
“ในโอกาสนี้ ผมขอขอบคุณคณะนักศึกษาหลักสูตร Super วปส. รุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นองค์ประกอบหรือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลักสูตรนี้ประสบความสำเร็จ โดยการศึกษาผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิเคราะห์เชิงวิพากษ์ ผนึกกำลังบูรณาการความคิด และร่วมสรุปแนวความคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ โดยนำมาสู่ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ประชาชน และประเทศชาติ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย