ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้บริษัท สุภาภรณ์พลาสติก จำกัด เลขที่ 2 ซอยบางบอน 5 ซอย 6/1 ถนนบางบอน 5 แขวงบางบอนเหนือ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสินค้าประเภทพลาสติกเพื่ออุตสาหกรรม
ลักษณะที่เกิดเหตุเป็นโรงงาน 4 ชั้น ภายในเป็นส่วนโรงงานผลิตและอาคารพักคนงาน โดยเพลิงลุกไหม้ได้รับความเสียหายทั้งหมด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2564 จากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตแต่อย่างใด ในเบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เร่งช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
โดยสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ได้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์เพลิงไหม้อย่างใกล้ชิดแล้ว รวมทั้งติดตามและตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของโรงงานดังกล่าวและอาคารพาณิชย์ข้างเคียงที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับความเสียหายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ว่าบริษัท สุภาภรณ์พลาสติก จำกัด ได้ทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินไว้กับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 721-01551-6 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 1 มกราคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 1 มกราคม 2565 จำนวนเงินเอาประกันภัย 210,000,000 บาท โดยมีรายละเอียดของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คือ สิ่งปลูกสร้างตัวอาคาร (ไม่รวมฐานราก) 65,000,000 บาท สต๊อกสินค้าและวัตถุดิบ 47,000,000 บาท และเครื่องจักรรวมอุปกรณ์ส่วนควบต่าง ๆ 98,000,000 บาท
สำหรับการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยดังกล่าวได้ลงพื้นที่เพื่อติดตาม และเร่งสำรวจภัยเพื่อประเมินความเสียหายแล้ว ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เข้าร่วมบูรณาการเพื่อให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยเป็นไปโดยเร็วและเป็นธรรม
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจกับผู้ประกอบการที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงฝากเตือนมายังผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยควรทำประกันอัคคีภัย หรือการประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในโรงงานหรือสถานที่ประกอบการ และการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ที่ให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากกรณีที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ตามระยะเวลาและรายได้ที่ขาดหายไปในระหว่างที่กำลังซ่อมแซม รวมถึงการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ที่ให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้ประกอบการมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่น เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยด้านประกันภัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Line Chatbot@Oicconnect ข้อมูลอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย