แอสตร้าเซนเนก้า คือบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งเลือกให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตเพื่อส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อนี้อาจเป็นที่คุ้นเคยในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ แต่สำหรับคนทั่วไปแล้วอาจไม่ทราบว่า แอสตร้าเซนเนก้าดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานเกือบ 40 ปี โดยเป็นผู้คิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยา รวมถึงมีส่วนริเริ่มโครงการต่างๆ มากมาย เพื่อการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่มากกว่าการรักษา
เครือข่ายระดับโลก เพื่อการพัฒนาหนึ่งในปัจจัยสี่ของชีวิต
ชื่อ “แอสตร้าเซนเนก้า” เกิดขึ้นในปี 2542 จากการควบรวมกิจการของ Astra AB บริษัทยาเก่าแก่ของสวีเดน และ Zeneca Group บริษัทยาของสหราชอาณาจักร โดยปัจจุบันมีพนักงานกว่า 76,000 คน ประจำสำนักงาน 26 แห่งใน 16 ประเทศทั่วโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร มีฐานการวิจัยและพัฒนา 3 แห่งคือใน เคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร กอเทนเบิร์ก สวีเดน และเมืองเกเธอร์สเบิร์ก รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา อีกทั้งมีห้องปฏิบัติการทดลองของตนเองในซาน ฟรานซิสโกและบอสตัน สหรัฐอเมริกา โอซาก้า ญี่ปุ่น และเซี่ยงไฮ้ จีน ในปี 2526 แอสตร้าเซนเนก้าเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนับตั้งแต่สมัยยังเป็น Astra AB ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ภายหลังการควบรวมกิจการ โดยในปัจจุบัน มีพนักงานจำนวนกว่า 270 คน
ใช้วิทยาศาสตร์นำทาง เพื่อนวัตกรรมด้านสุขภาพที่ตอบโจทย์
ท่ามกลางสถานการณ์ความเปราะบางต่อกลุ่มโรคไม่ติดต่อหรือ NCDs (Non-communicable diseases) สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตทั่วโลกและปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศไทย แอสตร้าเซนเนก้ามุ่งเน้นที่จะเป็นผู้นำด้านการรักษาใน 3 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็งวิทยา (Oncology) โดยเฉพาะชนิดที่ยากต่อการรักษา กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ ไตและเมแทบอลิซึม (CVRM) กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิคุ้มกันและโรคติดเชื้อ (Respiratory, Immunology and Infectious Disease หรือ RIID) รวมถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินในกว่า 80 ประเทศ ครอบคลุม 6 ทวีปทั่วโลก และได้ถูกส่งมอบให้กว่า 170 ประเทศทั่วโลกแล้วเป็นจำนวนกว่าพันล้านโดส การพัฒนายาที่สามารถรักษาโรคได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและอยู่ในระดับราคาที่จับต้องได้ยังเป็นเป้าหมายสำคัญที่แอสตร้าเซนเนก้าตั้งใจจะทำให้ดียิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จำหน่ายยามากกว่า 20 รายการ
โครงการความร่วมมือ เพื่อยกระดับโซลูชันด้านสุขภาพที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
แอสตร้าเซนเนก้ามุ่งส่งเสริมการเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ การดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมจริยธรรมและความโปร่งใสในสังคม เพื่อผลักดันให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีของคนทุกเพศทุกวัยอย่างยั่งยืน โดยได้พัฒนาโครงการต่างๆ และประสานงานร่วมกับภาครัฐและพันธมิตร อาทิ
- “Healthy Lung” โครงการที่มุ่งสร้างการตระหนักรู้ สนับสนุนการเข้าถึงการวินิฉัยโรค และการรักษา โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด เพื่อเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาพปอดที่แข็งแรง
- “The Lung Ambition Alliance” ความร่วมมือระหว่างภาคีพันธมิตรระดับนานาชาติร่วมกัน 4 องค์กร ใน 50 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เพื่อศึกษาทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของโรค พัฒนาเทคนิคระดับก้าวหน้าเพื่อการดูแลรักษาโรคมะเร็งปอด และส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
- “Young Health Programme” โครงการปลูกฝังองค์ความรู้ การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและปัญหาสุขภาพ ให้กับเยาวชนอายุ 10-24 ปี ใน 24 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยโดยการสร้างผู้นำในกลุ่ม เพื่อให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่ ครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย และชุมชน
- “New Normal Same Cancer” โครงการความร่วมมือกับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อการรักษาโรคมะเร็งและส่งเสริมให้ผู้ป่วยรับการวินิจฉัยและรักษา
- Early CKD Screening โครงการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเบาหวานและประชาชนทั่วไป เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงอันตรายของโรคไตเรื้อรังที่เกิดจากโรคเบาหวาน และสนับสนุนการตรวจคัดกรองโปรตีนรั่วในปัสสาวะของผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง ทั้งนี้การตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นต่อไปได้
- AZPAP – Patient Affordability Programme โครงการซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนการเข้าถึงยานวัตกรรมให้กับผู้ป่วยในประเทศไทย
ไม่หยุดพัฒนาและมุ่งค้นหานวัตกรรม เพื่ออนาคตของการดูแลสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น
เทคโนโลยีและดิจิตอลโซลูชันมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการรักษาที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปัจจุบันแอสตร้าเซนเนก้ามีโครงการมากกว่า 700 โครงการ ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างเครือข่ายทั่วโลก เพื่อยกระดับนวัตกรรมการดูแลและรักษาสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง โดยในประเทศไทยแอสตร้าเซนเนก้าได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถ และการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในในการช่วยอำนวยความสะดวกต่อการให้บริการด้านสาธารณสุขในประเทศไทย
ทั้งนี้ด้วยเครือข่าย “Health Innovation Hubs” ของแอสตร้าเซนเนก้าทั่วโลก จึงทำให้มีการเชื่อมประสานและต่อยอดข้อมูลที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย ยา เทคโนโลยี บุคลากรทางการแพทย์ และผู้กำหนดนโยบาย เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพของคนในสังคมให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ
ยึดมั่นในบทบาท ‘สถานที่ทำงานยอดเยี่ยม’
แอสตร้าเซนเนก้าให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงาน โดยส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และการพัฒนา รวมทั้งให้ความสำคัญกับสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานทุกคน โดย แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้รับรางวัล Top Employer 2021 สำหรับองค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารองค์กรและการดูแลพนักงานทั้งในระดับประเทศไทยและระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2564 โดยสถาบัน Top Employers Institute บริษัทฯ ยึดมั่นในบทบาท ‘สถานที่ทำงานยอดเยี่ยม’ (Great Place to Work) โดยให้คุณค่ากับนวัตกรรม (Innovation) ความร่วมมือ (Collaboration) การยอมรับในความแตกต่างและการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Diversity & Inclusion) การทำงานเป็นทีม (Working as an enterprise team) การนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนา (What science can do) และการทำสิ่งที่ถูกต้อง (Doing the Right Thing) ซึ่งเป็นค่านิยมหลักของเรา
เจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงคุณค่าแห่งการค้นพบนวัตกรรมเพื่อสุขภาพอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แอสตร้าเซนเนก้ามีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ความก้าวหน้าด้านวัคซีนของโลก ขณะเดียวกันก็พบว่าความท้าทายด้านสุขภาพอื่นๆ ก็ไม่ได้มีความสำคัญลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่เคยหยุดขยายขีดความสามารถของวิทยาศาสตร์ในการพัฒนายาและโซลูชันต่างๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนชีวิตของผู้ป่วย ยกระดับระบบการดูแลสุขภาพ และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีแก่สังคมทั่วโลก”