รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะผู้บริหาร อว. ตรวจเยี่ยมในพื้นที่ติดตั้งนวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ โรงพยาบาลบุษราคัม พร้อมส่งมอบนวัตกรรม ICU ความดันลบเคลื่อนที่ พร้อมด้วยนวัตกรรมชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) หน้ากากอนามัยชนิด KN95 และหน้ากากอนามัย N-Breeze สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
วันที่ 19 สิงหาคม 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีส่งมอบฯ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์
สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงฤทธิ์ เบญจาธิกุล เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ หัวหน้าโครงการวิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมการตรวจเยี่ยมและส่งมอบนวัตกรรม
ทั้งนี้โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม และนายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 ให้การต้อนรับ ณ โรงพยาบาลบุษราคัม อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่นวัตกรรมที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ทุนสนับสนุนสามารถพัฒนาไปสู่นวัตกรรมที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ทันท่วงทีต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ในการรับมือสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เป็นความภาคภูมิใจที่นวัตกรรมดังกล่าวผลิตได้ด้วยฝีมือของคนไทย มีราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่าตัว ในขณะที่คุณภาพและมาตรฐานไม่ด้อยไปกว่ากัน
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ หัวหน้าโครงการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า นวัตกรรมห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่สำหรับติดตั้งในโรงพยาบาลบุษราคัม เป็นนวัตกรรมที่ใช้ในการสนับสนุนด้านสาธารณสุข โดย วช. สนับสนุนทุนวิจัยแก่สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย มีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พัฒนานวัตกรรม “ห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ระบบอัจฉริยะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมสามารถปรับความดันในห้องได้โดยอัตโนมัติ” เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะช่วยรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เกณฑ์สีเหลือง-แดง ติดตั้งง่ายและเคลื่อนย้ายสะดวก ระบบสามารถทำงานเองได้โดยอัตโนมัติ รวมถึงรายงานประสิทธิภาพการใช้งานของห้องไอซียูแต่ละยูนิตได้ด้วย เมื่อมีการเชื่อมต่อระบบห้องเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ต
สำหรับประสิทธิภาพของไอซียูความดันลบเคลื่อนที่ เป็นห้องสำเร็จรูป ขนาด 3 × 6.5 เมตร / ยูนิต พื้นที่ภายในแบ่งออกเป็น 2 ห้อง คือ ห้องสำหรับผู้ป่วย และห้องสำหรับผู้ดูแล มีระบบคอมพิวเตอร์คอยควบคุม แต่ละห้องมีระบบปรับอากาศ มีระบบควบคุมแรงดันอากาศอัตโนมัติ เพื่อให้ห้องทั้งผู้ป่วยและห้องเฉลียง มีความดันที่เหมาะสมและสัมพันธ์กันตลอดเวลา ทั้งในกรณีที่มีการเปิดปิดประตูในแต่ละห้อง หรือมีการเปลี่ยนแปลงแรงดันภายในห้องจากกรณีอื่น ๆ มีระบบดูดอากาศ และกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อมั่นใจได้ว่าอากาศภายในห้องที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนจะไม่ไหลออกมาสู่ภายนอก
นอกจากนี้ วช. ยังได้นำนวัตกรรมชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะ ชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) จำนวน 20 ชุด พร้อมทั้งหน้ากากอนามัยชนิด KN95 จำนวน 1,000 ชิ้น และหน้ากากอนามัย N-Breeze จำนวน 20,000 ชิ้น มามอบให้โรงพยาบาลบุษราคัม เพื่อนำไปใช้รับมือกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 อีกด้วย