สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาส ร่วมกับ สถาบันอาหาร จัดแถลงความสำเร็จโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารอัตลักษณ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าสู่ตลาดสากล ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการอาหารอัตลักษณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดน นราธิวาส ปัตตานีและยะลา ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและด้านการบริหารจัดการธุรกิจสมัยใหม่ พร้อมการสัมมนาออนไลน์ “การปรับตัวของธุรกิจอาหารแปรรูปในสถานการณ์โควิด-19” ร่วมกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ
นายคณบดี สัมพัชนี อุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาส กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมีจำนวนลดลงและได้ส่งผลกระทบ ทำให้ยอดขายสินค้าลดน้อยลง บางรายต้องหยุดกิจการหรือหยุดการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อจังหวัดภาคใต้ชายแดนอย่างยิ่ง
“ด้วยเหตุนี้การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นและอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่ทั้งระบบ อาทิ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร กิจการขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ รวมถึงวิสาหกิจชุมชน จึงจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาเพื่อยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในการดำเนินการต่อยอดธุรกิจ ตลอดจนให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งในด้านมาตรฐานการผลิตที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และการยกระดับอุตสาหกรรมให้ก้าวไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ที่มุ่งเน้นในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการผลิตมีการนำระบบ AI มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ตั้งแต่ด้านการผลิตและการบริหารจัดการธุรกิจสมัยใหม่เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ขยายโอกาสเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชนต่อไป” นายคณบดี กล่าว
สำหรับโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารอัตลักษณ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าสู่ตลาดสากล ปี 2564 โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชน ในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรที่ตั้งกิจการอยู่ในจังหวัดภาคใต้ชายแดน ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 20 กิจการ แบ่งเป็น กิจกรรมการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมอาหารให้ได้มาตรฐานระดับสากล จำนวน 10 กิจการ และกิจกรรมการพัฒนายกระดับวิสาหกิจ ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 จำนวน 10 กิจการ
โดยผลการดำเนินโครงการทั้ง 2 กิจกรรม ผู้ประกอบที่เข้าร่วมโครงการประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง โดยมีผู้ประกอบการจัดทำมาตรฐาน GMP Codex จำนวน 4 กิจการ จัดทำมาตรฐาน Halal และเตรียมความพร้อมสู่มาตรฐาน GMP Codex จำนวน 6 กิจการ สถานประกอบการที่สามารถเพิ่มระดับอุตสาหกรรมจากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.1 มาเป็นระดับ 2.8-3.1 จำนวน 10 กิจการ ทั้ง 20 กิจการ สามารถนำแนวทางในการพัฒนา เพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นหลังการพัฒนาร้อยละ 30 และมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 34 ล้านบาท
ภายในงานได้มีการบรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ “มาตรการพืชปลดล็อคฯ ต่อการสร้างโอกาสทางธุรกิจ” โดยเภสัชกรหญิงวิไลวรรณ สาครินทร์ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมหลังการปลดล็อคใบ “กระท่อม” ให้สามารถสามารถผลิตและแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ โดยแนวทางการแปรสภาพใบกระท่อมอาจพัฒนาเป็นสมุนไพรประเภทต่างๆ อาทิ ยาตำรับแผนไทย ยาพัฒนาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เวชสำอางสมุนไพร อาหารเพื่อสุขภาพจากสมุนไพร เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมเตรียมกระบวนการพัฒนา เมื่อมีการปลดล็อคที่ชัดเจนก็สามารถยื่นขออนุญาตผลิตและจำหน่ายต่อไป
นอกจากนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิเช่น การจัดทำระบบการผลิตให้มีมาตรฐานป้องกันการปนเปื้อน การปรับปรุงพัฒนาสถานที่ การดูแลสุขอนามัยของพนักงานเพื่อคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารสู่สากล การนำเทคโนโลยีด้านการตลาดออนไลน์รวมถึงการปรับช่องทางการขายออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว