ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ เป็นประธานในการแถลงข่าว การจัดงานวันคล้ายวันสถาปนา สสวท. ครบ 50 ปี ปีพุทธศักราช 2565 หัวข้อ “Redesigning Future Education การออกแบบการศึกษาแห่งอนาคต” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า ประธานกรรมการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท. ร่วมในการแถลงข่าวด้วยระบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม ZOOM
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สสวท. เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่มีความสำคัญและมีบทบาทอย่างสูงในการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศ ภารกิจทุกด้านของ สสวท.เป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างกำลังคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้วิทยาศาสตร์และสมรรถนะสูง ก้าวทันแข่งขันได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี
“สสวท. ทำงานพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ของนักเรียนไทย พัฒนาครู หนังสือเรียน สื่อการสอน กระบวนการเรียนรู้ ที่มีศักยภาพและทันสมัย มีความเข้มแข็งทางด้านวิชาการที่ทันโลก เห็นได้จากล่าสุดได้ส่งเสริมการเรียนรู้วิชาการใหม่ ๆ เช่น โค้ดดิ้ง หรือ ภาษาคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างคนให้ฉลาดรู้และแก้ปัญหาได้ให้นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา รวมทั้งอบรมครูเพื่อเร่งขับเคลื่อนการเรียนรู้วิชานี้และขยายผลอย่างจริงจัง นำสู่เป้าหมายการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้มีสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาชาติด้วยนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นอนาคตของชาติได้” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า ประธานกรรมการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า สสวท. ดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการตลอดมา โดยเน้นคุณภาพผลผลิตเป็นสำคัญ ซึ่งก้าวต่อไปจะเร่งยกระดับการทำงานตามภารกิจให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการสร้างนักเรียนไทยให้เก่งด้วย การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ สร้างคุณภาพครูผู้สอนมีศักยภาพสูง พัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่เข้าถึงเนื้อหาวิชาการสามารถดึงดูด ความสนใจของผู้เรียนได้ทันยุค
เป้าหมายต่อไปของ สสวท. มุ่งพัฒนาสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ตลอดจนเนื้อหาวิชาการที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ช่วยให้เด็กไทยเข้าใจวิทยาศาสตร์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ภายใต้แนวทางการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ซึ่งกระตุ้นให้นักเรียนคิด วิเคราะห์ ใช้เหตุผล แก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม นำสู่การเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม เข้าถึงนักเรียนได้โดยไร้ขอบเขต สร้างศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้สามารถพัฒนานวัตกรรมที่มีจุดเด่นนำรายได้และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า ณ วันนี้นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าท้ายยิ่งกว่าช่วงเวลา 5 ทศวรรษที่แล้วมา เพราะเรากำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงของศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ที่จะต้องนำนักเรียนไทย Go Digital ให้ความรู้ ทักษะการแก้ปัญหาและการใช้ชีวิต มีสมรรถนะที่แข็งแกร่งเพียงพอจะเผชิญกับพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ก่อเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุก ๆ ด้านอย่างหนักหน่วงและฉับพลัน ซึ่งผู้ที่ปรับตัวรับแรงสั่นสะเทือนของคลื่นการพัฒนาครั้งนี้ได้เท่านั้น จึงจะสามารถยืนหยัดและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรู้เท่าทันโลก
สสวท. จึงมุ่งปรับทิศทางสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ ผลักดันให้ก้าวไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อเข้าถึงผู้เรียนได้อย่างเท่าเทียมทั้งนักเรียนที่อยู่ในระบบ และนอกระบบ พลิกโฉมการจัดการเรียนการสอนให้เป็นการสร้างเส้นทางสมรรถนะ (Competency) ซึ่งสำคัญและจำเป็นต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน จุดประกายเด็กไทยให้มีทักษะแห่งอนาคตคือ คิด วิเคราะห์ ใช้เหตุผล แก้ปัญหาได้ สร้างนวัตกรรมที่มีจุดเด่นและเพิ่มมูลค่าให้ผลงานของตนแข่งขันได้ในทุกบริบทของสังคมอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเพื่อพัฒนาศักยภาพให้เป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ คิดค้นองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมที่มีจุดเด่นสามารถตอบโจทย์แก้ปัญหา และรองรับความต้องการของสังคม สร้างรายได้ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยภูมิปัญญาและศักยภาพของ “นักวิทยาศาสตร์ไทย”
สำหรับการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนา สสวท. ครบรอบ 50 ปี ปีพุทธศักราช 2565 หัวข้อ “Redesigning Future Education การออกแบบการศึกษาแห่งอนาคต” ในครั้งนี้จะจัดขึ้นวันที่ 16 – 17 มกราคม 2565 โดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ zoom ซึ่งเปิดโอกาสให้ครู นักเรียน ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมชมได้สะดวก ประกอบด้วยกิจกรรมทางวิชาการ การบรรยายพิเศษ เสวนาทางวิชาการในหลากหลายมุมมองเพื่อตอบโจทย์ความคมชัดของทิศทางการก้าวเดินสู่เป้าหมายของการออกแบบการศึกษาไทยในอนาคต ผู้สนใจสามารถติดตามกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ https://50th.ipst.ac.th/ หรือ เฟซบุ๊ก IPST Thailand : https://www.facebook.com/ipst.thai