การได้ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาและล่วงเลยมาจนถึงปีนี้ คงทำให้หลายคนได้สังเกตสังกาความเป็นไปภายในบ้านมากกว่าที่เคย ว่าข้าวของประดามีที่เราสะสมไว้ในบ้านนั้น บางชิ้นก็ไม่ได้นำมาใช้งาน หรือบางชิ้นก็ซ่อนตัวอยู่ในที่ที่มองไม่เห็นอยู่นานแสนนานจนลืมไปแล้วว่าเคยมีอยู่มากมายแค่ไหน
จะว่าไปแล้วการได้กลับไปเห็นของเหล่านั้นก็เป็นเรื่องดีต่อใจ หลายๆ ชิ้นชวนให้เราย้อนคิดถึงวันวานที่เคยได้มาว่าครั้งหนึ่งเราใจฟูแค่ไหนที่ได้ครอบครอง เสื้อตัวนี้เคยใช่กับเรามากๆ จนฟูมฟายถ้าไม่ได้มันมา ตุ๊กตาลังใหญ่ที่สะสมไว้ตั้งแต่ยังเด็ก หนังสือเก่าเก็บที่เหมาะกับเราในช่วงวัยหนึ่งพอถึงวันนี้เราไม่อินกับมันแล้ว หรือกระเป๋าที่วางซ้อนไว้ในตู้จนเสียทรงเพราะไม่ได้ใช้ ครั้นจะเก็บไว้ให้นอนเฉาๆ อยู่อย่างนั้นก็เบียดเสียดพื้นที่ใช้สอยในบ้านอยู่ไม่น้อย จะดีกว่ามั้ยนะถ้าเราส่งต่อของรักเหล่านี้ไปอยู่ในมือของคนที่จะใช้ประโยชน์ได้มากกว่า
ถ้าคุณคิดได้แบบนี้ เราต้องขอแสดงความยินดี เพราะนี่อาจถึงเวลาสะสางความเบียดเสียดให้เรียบโล่ง และได้ฝึกละวางความยึดมั่นให้หัวใจเบาสบาย เมื่อเห็นของรักได้เปลี่ยนมือไปสู่เจ้าของคนใหม่ และให้ข้าวของเหล่านั้นได้ออกมาโลดเต้นมีชีวิตเหมือนเมื่อก่อน เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ดีต่อโลกด้วยอีกหนึ่งประการ และยังได้เป็นการพัฒนาความคิดและพฤติกรรมตนเอง ในการเปลี่ยนแปลงนิสัยและการเป็นอยู่ให้มีคุณภาพขึ้นกว่าวิถีการชอบเก็บแบบเดิมๆ เรียกว่าเป็นการจัดบ้านที่เราได้จัดใจไปด้วย
แต่เราจะเริ่มจากตรงไหนดีล่ะ?
Step 1: ตัดใจ
สิ่งที่เราต้องผ่านกันไปอย่างยากลำบากกันทุกคนเมื่อเริ่มลงมือจัดบ้าน คือการ ‘ตัดใจ’ ไม่ว่าของนั้นจะเป็นเสื้อผ้าชุดโปรด แอคเซสซอรีส์แสนเก๋ หนังสือกองดองหรือกองที่อ่านจบแล้ว ของตกแต่งบ้าน หรือของที่ไม่ได้ใช้งานแล้วก็จริง แต่หยิบขึ้นมาก็มีความหลังที่ผูกพัน หรือบางครั้งก็ยังแอบหวังอยู่ลึกๆ ว่าคงมีสักวันน่าที่เราอาจจะได้เอามาใช้ ชักเข้าชักออกว่าของชิ้นนี้จะได้อยู่กับเราหรือให้ไปต่อ
การตัดใจจึงต้องเริ่มจาก ‘ดูใจ’ ก่อนว่า ของชิ้นนั้นมีคุณค่าทางใจเราแค่ไหน หากมีค่ากับเรามากจริงๆ การเก็บเอาไว้เยียวยาหัวใจก็สมค่าที่สุดแล้ว
ของชิ้นไหนที่เราลืมไปแล้ว ลองเปลี่ยนที่วางจากที่เคยอยู่ในหลืบลึกสุดมาเป็นที่ที่เห็นง่ายเตะสายตา แล้วให้เวลาสัก 1 เดือน ดูว่าเราจะมีโอกาสหยิบของชิ้นนั้นมาใช้ไหม ถ้าไม่ ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนมือแล้วจริงๆ
ของชิ้นที่เราไม่ได้ลืมก็จริง แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เลยนอกจากวางให้ฝุ่นเกาะ แล้วยังดูเก้กังไม่เข้ากับใครเมื่อตั้งโชว์อยู่ในบ้าน บอกลากันเสียวันนี้อาจจะเป็นเรื่องดีกว่า
Step 2: จัดหมวดหมู่
ครบ 1 เดือนสำหรับการดูใจแล้ว ก็ถึงวันที่ต้องจัดการจริงจัง เชื่อเถอะว่าแม้จะดูเป็นเรื่องไม่ยาก แต่เราต้องการเวลาทั้งหมดของวันในการละเลียดและปล่อยวางครั้งสุดท้าย
ในสเต็ปนี้เราจัดหมวดหมู่ข้าวของที่ต้องแยกย้ายออกเป็น 4 กล่อง คือขาย แลกเปลี่ยน บริจาค และขยะ
กล่องขาย: สำหรับของมูลค่าสูงที่ยากจะตัดใจยกให้ใครได้ฟรีๆ เปลี่ยนของมาเป็นทุนก็น่าสนใจ
กล่องแลกเปลี่ยน: สำหรับของที่ยังสปาร์กใจอยู่ สภาพดี ใช้งานได้ดี แต่ไม่ได้ใช้แล้ว และอยากเอาไปร่วมกิจกรรมสนุกๆ กับกลุ่มที่มีการแลกเปลี่ยน หรือ swap กันอยู่เรื่อยๆ
กล่องบริจาค: สำหรับของสภาพดี แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย หรือของที่ชำรุดเล็กน้อย ซ่อมแซม นิดหน่อยก็สามารถใช้งานได้ มีหลายมูลนิธิที่รับของเหล่านี้เพื่อส่งต่อไปยังผู้ด้อยโอกาส หรือนำไปขายต่อเพื่อนำเงินมาสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิ
กล่องขยะ: สำหรับของที่ชำรุดเสียหาย ใช้งานต่อไม่ได้แล้วจริงๆ โดยแยกกล่องย่อยออกเป็นอีกสองกล่อง สำหรับรีไซเคิลได้ และรีไซเคิลไม่ได้ กล่องที่รีไซเคิลได้ สามารถส่งต่อให้พี่ๆ ซาเล้ง หรือโครงการที่รับไป รีไซเคิลต่อ ส่วนกล่องที่รีไซเคิลไม่ได้ ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับขยะกำพร้าเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน
Step 3: ส่งต่อ
ถึงสเต็ปนี้อนุญาตให้ชมตัวเองว่าเก่งมากที่ยอมถอยตัวเองจากของรักให้ได้ไปต่อ แต่จะไปต่อที่ไหน ส่งต่อถึงใคร เรามีไกด์เล็กๆ ที่แนะนำปลายทางได้
กล่องขาย: ง่ายที่สุดคือส่งต่อไปยังร้านรับซื้อของมือสองโดยตรง ที่มีทั้งหน้าร้านจริงๆ และหน้าร้านในเพจเฟซบุ๊ค แต่ต้องทำใจว่าอาจได้ราคาที่ใจวูบหน่อยเพราะคนรับซื้อก็ต้องให้ราคาที่สามารถนำไปขายต่อได้ หากไม่สะดวกแบบนี้ ลองเข้าไปจอยในกลุ่มซื้อขายสินค้ามือสองที่มีให้เลือกตามประเภทของที่จะขายโดยเฉพาะ เปิดโอกาสให้คนซื้อและคนขายได้เจรจากันโดยตรง ข้อนี้ต้องขอย้ำว่าให้ทำจิตแข็งเข้าไว้ เพราะอาจเผลอไปช้อปของใหม่เข้าบ้านได้ไม่รู้ตัว
กล่องแลกเปลี่ยน: อีเวนต์แลกเปลี่ยนเสื้อผ้ามักจะจัดขึ้นโดยกลุ่มคนเล็กๆ ที่สนับสนุนการใช้ซ้ำไม่ต้องซื้อ โดยชวนให้นำชุดที่ไม่ได้ใส่หรือใส่เบื่อแล้วมาแลกกับเพื่อนในงาน ทั้งอีเวนต์ Cloth Swap ประจำปีที่จัดโดย Fashion Revolution Thailand ซึ่งต้องคอยติดตามทางเพจ Fashion Revolution Thailand เอาไว้
กล่องบริจาค: มีหลายมูลนิธิที่รับของไม่ใช้แล้วเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ ทั้งของชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ ที่ทำให้ของยังสภาพดีทั้งหลายมีที่ไปได้ครบ อาทิ ห้องได้บุญ สภากาชาดไทย, มูลนิธิกระจกเงา, มูลนิธิบ้านนกขมิ้น, โครงการร้านปันกัน มูลนิธิยุวพัฒน์
กล่องขยะ: วัสดุที่รีไซเคิลได้ สนับสนุนการส่งต่อให้พี่ๆ ซาเล้งเพื่อเปลี่ยนเป็นรายได้ ส่วนวัสดุที่รีไซเคิลไม่ได้ แนะนำให้ส่งต่อ N15 Technology ที่เปิดจุดรับขยะกำพร้าหรือขยะรีไซเคิลไม่ได้แต่เปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนได้ทุกวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ตามจุดรับที่นัดหมายทางเพจ N15 Technology ที่หรือส่งเป็นพัสดุไปยังบริษัทตามที่อยู่ที่ระบุไว้ทางเพจได้เช่นกัน