นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ชี้ให้ผู้ประกอบการไทยเร่งใช้โอกาสในการส่งออกมังคุดไปไต้หวัน หลังจากไต้หวันอนุญาตให้ไทยกลับมาส่งออกมังคุดได้อีกครั้ง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2565 นายภูสิตฯ เปิดเผยว่าการที่ไต้หวันอนุญาตให้ไทยกลับมาส่งออกมังคุดได้เป็นผลมาจากการทำงานอย่างบูรณาการและใกล้ชิดระหว่างสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ
ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) หน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งรับผิดชอบไต้หวัน และสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ของไทยที่ร่วมกันผลักดัน และเจรจาเพื่อนำเสนอข้อมูลทางวิชาการให้ไต้หวันยอมรับและมั่นใจในวิธีการตรวจปล่อยมังคุดของไทย นับเป็นการทำงานที่ตอบรับนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการ
ให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ทำงานประสานกันเพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกรไทย
นางสาวกัลยา ลีวงศ์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) กล่าวเพิ่มเติมว่า ไต้หวันเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีการบริโภคผลไม้เฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยชาวไต้หวันมีกำลังซื้อสูง และมังคุดเป็นผลไม้ไทยที่ชาวไต้หวันนิยมมากเป็นอันดับสองรองจากทุเรียน โดยมังคุดที่เคยวางขายในไต้หวันสามารถทำราคาได้สูงถึง 40-50 บาทต่อผล ทั้งนี้ ในปี 2562 ไต้หวันอนุญาตให้ไทยส่งออกมังคุดไปยังไต้หวันได้ โดยมีเงื่อนไขต้องผ่านกระบวนการอบไอน้ำเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ และต้องมีเจ้าหน้าที่เกษตรของไต้หวันเดินทางมาควบคุมการตรวจปล่อยก่อนการส่งออก แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเดินทางมาไทยได้ ส่งผลให้ไทยไม่สามารถส่งออกมังคุดไปไต้หวันได้ ไทยจึงแก้ไขปัญหาโดยเสนอแนวทางให้ไทยสามารถตรวจปล่อยมังคุดได้โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่จากไต้หวันเดินทางมากำกับดูแล ซึ่งจะช่วยปลดล็อคให้ไทยสามารถส่งออกมังคุดได้แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ล่าสุดไต้หวันอนุญาตให้โรงอบไอน้ำแห่งแรกของไทย (บริษัท SEM) กลับมาส่งออกมังคุดได้โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ไต้หวันเดินทางมาควบคุมการตรวจปล่อยสินค้า และยังมีโรงอบไอน้ำอีก 4 โรง ที่หากผ่านการทำ running test ตามที่ไต้หวันกำหนดแล้ว ก็จะสามารถส่งออกมาไต้หวันได้เช่นกัน การที่ไทยสามารถกลับมาส่งออกมังคุดไป
ยังไต้หวันได้จะช่วยระบายผลผลิตมังคุดและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรของไทยต่อไป
ทั้งนี้ สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ขอให้ผู้ส่งออกไทยระมัดระวังเรื่องมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารตกค้างและแมลงที่อาจติดมากับผลไม้ เนื่องจากไต้หวันมีความเข้มงวดในการตรวจผลไม้นำเข้า โดยหากตรวจพบแมลงหรือสารตกค้างสินค้าจะถูกทำลายหรือส่งกลับทั้งล็อต นอกจากนี้ สินค้านำเข้าในล็อตต่อไป จะถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169