เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการตามคำสั่งของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมพลตรี ดร.เจียรนัย วงศ์สอาด ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ และ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ รับมอบหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโครงการอาคารเช่าแบบผสมผสานเพื่อผู้มีรายได้น้อย (Mixed Use) ตามเส้นทางโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (TOD) พื้นที่ศึกษาบริเวณทะเลสาบคลองจั่น (The Lake) และบริเวณสนามกีฬาคลองจั่น (The Park) เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ จาก นายนิคม วงศ์วานิช อดีตอาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และ ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ อดีตผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนชาวชุมชนคลองจั่น ซึ่งมีประชาชนร่วมลงนามจำนวน 2,278 รายชื่อ หลังจากนั้นร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อร้องเรียนของผู้แทนชาวชุมชนคลองจั่นที่มีต่อการดำเนินโครงการดังกล่าว ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคาร 5 สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ
ซึ่งก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ พร้อมด้วยประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ และผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติได้ลงพื้นที่บริเวณสนามกีฬาคลองจั่น และบริเวณทะเลสาบคลองจั่น โดยมีตัวแทนชาวชุมชนคลองจั่นให้ข้อมูลรายละเอียดความเป็นมาต่าง ๆ ของชุมชน ตลอดจนปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากมีการก่อสร้างโครงการฯ
นอกจากนี้ ตัวแทนผู้อยู่อาศัยในชุมชนคลองจั่น ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงการอาคารสูงของการเคหะแห่งชาติบริเวณทะเลสาบคลองจั่น (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสวนนวมินทร์ภิรมย์ และเป็นบึงรับน้ำลำพังพวย (โครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)) และบริเวณสนามกีฬาคลองจั่น โดยส่วนใหญ่มองว่า จะส่งผลให้ชุมชนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อยู่อาศัยโดยรวม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม น้ำ น้ำเสีย ขยะ ในขณะที่บึงรับน้ำลำพังพวย ซึ่งเป็นโครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และสวนนวมินทร์ภิรมย์เป็นพื้นที่สีเขียว ปัจจุบันมีผู้คนมาใช้บริการจำนวนมาก ทั้งออกกำลังกาย และทำกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ หากมีการก่อสร้างอาคารสูงอาจกระทบต่อพื้นที่แก้มลิงรับน้ำของทั้งเขตบึงกุ่มและเขตบางกะปิ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมตามมาเป็นวงกว้าง รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมา เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ปัญหาความแออัดของผู้อยู่อาศัย ฯลฯ
ส่วนพื้นที่ออกกำลังกายในสวนนวมินทร์ภิรมย์ก็จะเป็นเพียงซอกสำหรับการออกกำลังกาย สุดท้ายจะเป็นเพียงพื้นที่ทิ้งขยะเท่านั้น ไม่เพียงแต่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนคลองจั่นที่จะได้รับผลกระทบ แต่รวมถึงชุมชนอื่น ๆ โดยรอบทั้งหมดด้วย
นอกจากนี้ ผังเมืองชุมชนคลองจั่นมีความสมบูรณ์ทั้งบ้านเดี่ยว และบ้านแฝด หากมีการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่สนามกีฬาคลองจั่น ซึ่งเป็นตึก 30 ชั้น อย่างน้อยต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี ผลกระทบที่จะตามมาคือ ประชาชนจะได้รับทั้งแรงสั่นสะเทือนจากการก่อสร้าง ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และภายหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ อาคารเหล่านี้จะบดบังทัศนียภาพของผู้อยู่อาศัยในชุมชน กลายเป็นอาคารสูง ซึ่งจะสร้างปัญหาต่าง ๆ ตามมา ส่วนพื้นที่ออกกำลังกายในสวนนวมินทร์ภิรมย์ก็จะเป็นเพียงซอกสำหรับการออกกำลังกาย สุดท้ายจะเป็นเพียงพื้นที่ทิ้งขยะเท่านั้น
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กล่าวภายหลังรับฟังความคิดเห็นและข้อร้องเรียนของประชาชนว่า ตนได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้มารับฟังความเดือดร้อนของชาวชุมชนคลองจั่นในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้รับรายงานจากผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติว่า ทั้งสองโครงการนี้ยังคงเป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น ซึ่งยังไม่ได้สรุปว่าจะทำหรือไม่ การเคหะแห่งชาติในฐานะหน่วยงานของรัฐ หากจะทำโครงการต่าง ๆ ต้องไปดูว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ก่อตั้งหน่วยงานขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งหน้าที่ในการดูแลให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยและดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนถือเป็นภารกิจหลักของการเคหะแห่งชาติ
“เรื่องนี้ส่วนตัวผมเห็นว่า เป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการได้ เพราะจากการดูพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำขึ้นมา ต้องดูเรื่องของสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่าง ๆ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งจะต้องมีการเชื่อมโยงกับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพราะการสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีคนเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ต้องให้ความสำคัญในเรื่องสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การจราจร สิ่งแวดล้อม และระบบการระบายน้ำ ผมจึงขอให้ประชาชนในชุมชนคลองจั่นใจเย็น ๆ เพราะโครงการแบบนี้ไม่ได้สร้างกันขึ้นมาได้ง่าย ๆ เพราะต้องดูเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ผลกระทบกับความเป็นอยู่ของชุมชน ประชาชน ที่สำคัญต้องกลับมาดูที่กฎหมายว่าทำได้แค่ไหน รวมถึงงบประมาณที่ใช้ การเคหะแห่งชาติมีเป้าหมายในการจัดหาพื้นที่เพื่อทำที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย อาจต้องดูว่าไปลงทุนสร้างที่อยู่อาศัยที่อื่นจะคุ้มค่ากว่าหรือไม่ ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ผมจะนำเรียนท่านนายกรัฐมนตรีได้รับทราบต่อไป” นายพีระพันธ์ กล่าว
นายทวีพงษ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งการเคหะแห่งชาติชัดเจนตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่า มีเป้าหมายเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติของความยั่งยืน ทั้งมิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาในการมอบนโยบายให้กับผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานได้เน้นย้ำว่า วันนี้เราต้องกลับมาทำตามภารกิจของการเคหะแห่งชาติคือ การกลับมามองเรื่องคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนและการพัฒนาอาชีพในชุมชน
“สำหรับโครงการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาโครงการอาคารเช่าแบบผสมผสานเพื่อผู้มีรายได้น้อย (Mixed Use) ตามเส้นทางโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (TOD) พื้นที่ศึกษาบริเวณทะเลสาบคลองจั่น (The Lake) และบริเวณสนามกีฬาคลองจั่น (The Park) เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ขอยืนยันว่า ขณะนี้เป็นเพียงขั้นต้นของการศึกษาเท่านั้น ยังมีอีกหลายขั้นตอน ซึ่งหากผลการศึกษาออกมาว่าเป็นไปไม่ได้ ที่สุดแล้วก็ไม่สามารถจัดทำโครงการนี้ได้ หลังจากนี้ จะมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการการมีส่วนร่วม” สำหรับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนคลองจั่น โดยมีตัวแทนจากชุมชนคลองจั่นเข้ามาเป็นคณะกรรมการ เพื่อทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างใกล้ชิด นายทวีพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย