EIC ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี 2020 เป็นหดตัวที่ -5.6% จากคาดการณ์เดิมที่ -0.3% โดยมีสาเหตุหลักจากพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 4 ข้อ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการหยุดลงแบบฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (sudden stop) เป็นผลจากปัญหา Covid-19 และมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มหดตัวมากที่ -12.9% ในปีนี้ 2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มจะลดลงมากและฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด โดยจะลดมาอยู่ที่ 13.1 ล้านคนในปีนี้ หรือหดตัวที่ -67% จากปีก่อนหน้า เป็นผลจากความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อการเดินทางระหว่างประเทศตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนและการรักษาโรคที่ได้ผล และจากรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้ 3) การประกาศปิดเมืองในหลายส่วนของไทย ซึ่งแม้เป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นในการควบคุมการระบาดของโรค แต่จะส่งผลให้การบริโภคสินค้าและบริการของภาคครัวเรือนโดยรวมลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบที่เพิ่มเติมจากความกังวลของผู้บริโภคต่อธุรกรรมที่มีลักษณะ face-to-face ในช่วงโรคระบาดอยู่แล้ว และ 4) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและการคลังที่คาดว่าจะมีออกมาเพิ่มเติม จะมีส่วนสำคัญในการช่วยบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทย โดย EIC ได้เพิ่มสมมติฐานของเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากการออก พรก. กู้ฉุกเฉิน จำนวน 200,000 ล้านบาทไว้ในการประมาณรอบนี้ด้วย
จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกที่รุนแรงเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดของหลายประเทศ ทำให้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และมีแนวโน้มหดตัวที่ -2.1% ในปี 2020ต่ำกว่าช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 จากผลกระทบของการระบาด COVID-19 ต่อเศรษฐกิจโลกมีมากกว่าคาด สะท้อนจากข้อมูลเร็วอย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมที่ลดลงเหลือ 40.5, 31.4 และ 35.8 ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 นอกจากนี้ มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดของหลายประเทศ ยังส่งผลโดยตรงต่อการหยุดชะงักอย่างฉับพลันของกิจกรรมเศรษฐกิจ (sudden stop) ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบอย่างหนักต่อภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) ในหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้น EIC จึงประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะถดถอย (global recession) โดยจะหดตัวที่ -2.1% ทั้งนี้ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกประกอบกับปัญหาด้าน supply disruption ที่จะมีเพิ่มขึ้น จากการหยุดชะงักด้านการผลิตของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงการลดลงอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันในตลาดโลก จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย โดย EIC ได้ปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2020 เป็นหดตัวที่ -12.9% จากเดิมที่คาดไว้ที่ -5.8%
ด้านสถานการณ์ท่องเที่ยว EIC ได้ปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2020 ลดลงเหลือเพียง 13.1 ล้านคน (เดิมคาด 27.7 ล้านคน) หรือหดตัว -67% จากปีก่อน โดยเป็นผลจากมาตรการปิดประเทศของประเทศต่าง ๆ เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ประกอบกับความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อการเดินทางระหว่างประเทศทำให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่าน 5 สนามบินหลัก (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่) ในช่วงวันที่ 1-28 มีนาคม 2020 หดตัวที่ -78%YOY และในช่วง 1-2 วันล่าสุดหดตัวเกือบ 100%YOY เมื่อมองไปข้างหน้าในช่วงที่เหลือของปี EIC ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจะหดตัวรุนแรงที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากเป็นช่วงที่ประเทศส่วนใหญ่จะมีมาตรการปิดประเทศอย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของโรค และแม้หลังจากนั้น มาตรการอาจเริ่มถูกผ่อนคลายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อการเดินทางระหว่างประเทศตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาโรคที่ได้ผล ประกอบกับรายได้ของนักท่องเที่ยวที่จะลดลงตามภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก จะทำให้การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยคาดว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวในเดือนธันวาคมจะกลับมาได้เพียงประมาณ 50% ของเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
การประกาศปิดเมือง (lockdown) ในหลายเมืองสำคัญของไทย ประกอบกับความตื่นกลัวด้านการระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าและบริการในภาพรวม มาตรการปิดเมืองเป็นมาตรการ social distancing ที่จำเป็นที่ประเทศส่วนใหญ่นำมาใช้เพื่อ flattening the curve ของการระบาด ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียของชีวิตผู้คนและการสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาพรวม แต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย EIC ประเมินจากหลายงานศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ในช่วงการ lockdown ระหว่างการเกิดโรคระบาด สินค้าที่จะมียอดขายเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าหมวดอาหาร สินค้าหมวดการทำความสะอาด ยา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ รวมถึงการใช้บริการอินเทอร์เน็ตตามการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ การทำงานที่บ้าน และกิจกรรมสันทนาการออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น เช่น ดูหนัง ฟังเพลง และเล่นเกมส์ เป็นต้น ขณะที่สินค้าและบริการที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบค่อนข้างมาก คือ การเดินทาง ท่องเที่ยว งานนิทรรศการ โรงแรมและร้านอาหาร การคมนาคมขนส่ง กิจกรรมสันทนาการ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องแต่งกาย โดยแม้จะมีบางสินค้าที่ได้รับประโยชน์ แต่ในภาพรวม การบริโภคมีแนวโน้มลดลงมากกว่า ทั้งนี้หากช่วงเวลาที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามความกังวลต่อธุรกรรมในลักษณะ face-to-face และจากมาตรการปิดเมือง มีระยะเวลา 1 เดือน การบริโภคภาคเอกชนจะลดลงและทำให้ GDP ไทยปี 2020 หายไปประมาณ -0.6 percentage point
มาตรการภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการประคับประคองเศรษฐกิจและลดผลกระทบต่อแรงงานและภาคธุรกิจ มาตรการที่ได้จัดทำไปในช่วงก่อนหน้า ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ส่วนใหญ่มุ่งเน้นในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ที่ถูกกระทบ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดภาษี มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน อย่างไรก็ดี EIC เชื่อว่า ในระยะต่อไป ภาครัฐจะเร่งดำเนินการออกมาตรการการคลังเพื่อชดเชยรายได้ให้กับแรงงานและผู้ประกอบการที่ตกงานหรือสูญเสียรายได้จาก COVID-19 ทั้งในส่วนการโอนเงินให้กับผู้ถูกกระทบจำนวน 3 ล้านคนที่ประกาศไปแล้ว และการเพิ่มวงเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกระทบได้มากขึ้น ผ่านการออก พรก. กู้เงินฉุกเฉิน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการอัดฉีดเงินให้ถึงมือของผู้เดือดร้อนได้ตรงจุดและประคับประคองเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ EIC ได้ใส่สมมติฐานวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านการออก พรก. กู้เงินฉุกเฉินจำนวน 200,000 ล้านบาทในการประมาณการเศรษฐกิจรอบนี้แล้วด้วย
Writer: Economic Intelligence Center (EIC)