วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14.00 น. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้รับมอบหมายจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการเสวนาระดับสูง เนื่องในโอกาสวันแห่งความยุติธรรมทางสังคมสากล ประจำปี 2567 ในหัวข้อ “มุ่งสู่ความยุติธรรมทางสังคมสำหรับทุกคนในโลกแห่งการทำงาน” ณ ห้อง Ballroom ชั้น 12 โรงแรมวี กรุงเทพฯ
โดยมี กิลเบิร์ท เอฟ โฮงโบ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ชิโฮโกะ อาซาดะ มิยากาวะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้อำนวยการ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ผู้แทนรัฐบาล องค์กรนายจ้าง และองค์กรลูกจ้างในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เอกอัครราชทูต ผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม ร่วมงาน
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การเสวนาในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยน ความคิดเห็น ถึงประเด็นที่จะต้องดำเนินการร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่ความยุติธรรมทางสังคมสำหรับทุกคนในโลกแห่งการทำงาน เนื่องจาก ขณะนี้โลกแห่งการทำงานเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบใหม่ ซึ่งการที่จะแก้ไขปัญหาความท้าทายดังกล่าวนี้ และนำไปสู่ความยุติธรรมทางสังคมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในรูปแบบพหุภาคีจากนานาประเทศ การทำงาน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรายได้ และรับประกัน ความเป็นอยู่ที่ดี โดยผู้คนจะสามารถเข้าถึงงานที่ดีและมีคุณค่าได้จำเป็นที่จะต้องมีความยุติธรรมในสังคม ซึ่งการจะสร้างความยุติธรรมทางสังคมได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
“ประเทศไทยขอแสดงความชื่นชม ท่านผู้อำนวยการใหญ่และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ได้ริเริ่มเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยความยุติธรรมทางสังคม หรือ Global Coalition for Social Justice ซึ่งจะเป็นกลไกในการผสานความพยายามร่วมกันระหว่างหุ้นส่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาความยุติธรรมในสังคม และขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเสวนาระดับสูงในวันนี้ จะสร้างแรงบันดาลใจให้ภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยความยุติธรรมทางสังคม สร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า เราจะสามารถสร้างโลกที่มีความยุติธรรมทางสังคมให้เป็นความจริงได้อย่างแน่นอน ” นายไพโรจน์ โชติกเสถียร กล่าว
นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในระดับพหุภาคีไม่ได้เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่เป็นกลไกที่มีความสำคัญยิ่งยวดในการสร้างอนาคตที่เป็นธรรม และเท่าเทียม ประเทศไทยจะร่วมกับนานาประเทศในการผลักดันความยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะในโลกแห่งการทำงาน ภายใต้วิสัยทัศน์ “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”
โดยการกำหนดนโยบายที่ครอบคลุม ส่งเสริมความหลากหลาย และรับประกันว่า ทุกภาคส่วนในสังคมจะได้รับส่วนแบ่งและผลประโยชน์จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม