ปัจจุบันนี้ ข้อมูลต่าง ๆ เข้ามามีส่วนสำคัญต่อชีวิตของผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลเส้นทางการเดินทางและสภาพการจราจร ข้อมูลรายการอาหาร ฯลฯ ข้อมูลสถานพยาบาลต่าง ๆ ฯลฯ โดยผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย และหลากหลายช่องทาง ดังนั้นเป็นเรื่องดี ถ้าจะมีการจัดการ วิเคราะห์ และนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด
วิทยาศาสตร์สุขภาพ และ วิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นอีกหนึ่งสาขาที่ผลิตข้อมูลจำนวนมหาศาลในทุก ๆ วัน ทั้งจากข้อมูลประวัติการรักษา ข้อมูลการใช้ยา ข้อมูลการวิจัย ตลอดจนแอพพลิเคชันเกี่ยวกับสุขภาพต่าง ๆ ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อให้ความสะดวกสบายแก่ผู้คนทั่วไป ดังนั้นการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาโรค ป้องกันโรค และปรับปรุงบริการทางการแพทย์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมให้ดียิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ คณะแพทยศาสตร์และการสาธรณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้ร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี จัดตั้งหลักสูตรใหม่ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วของข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และรองรับความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลซึ่งเป็นสาขาที่ใหม่และมีความสำคัญ โดยทั้งสองสถาบันมุ่งหวังให้บัณฑิตของหลักสูตรฯ สำเร็จการศึกษาออกไปเป็นบุคลากรที่มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลสุขภาพจากแหล่งต่างๆ และนำมาใช้แก้ไขปัญหาทางการแพทย์ และการสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว มีระเบียบแบบแผน และสามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ผ่าน ปรัชญาของหลักสูตร ผลิตนักวิทยาศาสตร์ที่มีทักษะปฏิบัติที่ดี สามารถเรียนรู้ได้เองอย่างต่อเนื่อง ประยุกต์องค์ความรู้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล”
อาจารย์ น.สพ.ดร.พีรุทย์ เชียรวิชัย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวางแผนกลยุทธ์การสรรหาและการคัดเลือก คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้คือ ผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้มีทักษะ 5 ด้าน ได้แก่ การเรียนรู้ด้วยตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ ตระหนักในคุณธรรมและจริยธรรม มีทักษะทางสังคม และเป็นนักปฏิบัติผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้มีความรู้ด้านซอฟต์แวร์การประยุกต์ใช้งานคอมพิวเตอร์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพและสุขภาพของประชาชน, เพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมจากต่างประเทศ, เพื่อให้บริการวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลในประเทศไทยโดยเน้นการวิจัยและพัฒนาที่ใช้ข้อมูลทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ สุขภาพ และสาธารณสุข, เพื่อปลูกฝังนักศึกษาให้มีจิตสำนึกในการใฝ่เรียนรู้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตด้านสุขภาพ และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนาคุณภาพและสุขภาพของประชาชน
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ใช้เวลาทั้งสิ้น 4 ปี และมีหน่วยกิตรวมจำนวน 125 หน่วยกิต โดยแบ่งออกเป็นรายวิชาในหมวด กลุ่มวิชาการศึกษาทั่วไป นักศึกษาจะได้เรียนรู้ศาสตร์ในหลาย ๆ แขนงที่มีประโยชน์ และเสริมสร้างความสุขในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น รายวิชาทางสังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ กีฬาประเภทต่าง ๆ เป็นต้น กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ นักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในปัจจุบัน กลไกการเกิดโรค ปัจจัยเสี่ยง รวมถึงระบบการจัดการภายในโรงพยาบาล เศรษฐศาสตร์สุขภาพ และวิทยาการใหม่ ๆ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สุขภาพอีกด้วย กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์ หาความสัมพันธ์ จัดเก็บข้อมูลประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ นอกจากนี้นักเรียนจะได้ลงมือวิเคราะห์ข้อมูลจริง ทดลองเขียนโปรแกรม และลองนำโปรแกรมดังกล่าวไปใช้งาน
เมื่อนักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจนมีองค์ความรู้เพียงพอแล้ว นักศึกษาจะได้นำความรู้จากห้องเรียนไปฝึกใช้ในการทำงานจริง โดยการทำโครงงานด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อวิทยาการที่ได้เรียนรู้มา โดยอาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา อาทิ 1. นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล 2. นักวิเคราะห์ข้อมูล 3. นักพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบข้อมูล 4. ผู้จัดการซอฟต์แวร์และข้อมูล 5. นักวิชาการคอมพิวเตอร์
ด้านรายละเอียดอื่นๆ ค่าเล่าเรียน 56,000 บาท ระยะเวลา 4 ปี สถานที่เรียน วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ปีการศึกษา หลักสูตรใหม่ปีการศึกษา 2561 การรับสมัครปีการศึกษา 2565 จำนวนรับเข้าศึกษา (รวมทั้งสิ้น 40 คน) สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.pccms.ac.th/?p=3821 e-mail: healthdatascience.info@gmail.com Facebook: Health Data Science PCCMS KMUTT