หัวเว่ย ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสมาร์ทดีไวซ์ ประกาศเปิดตัวโครงการ Huawei ICT Competition 2021 – 2022 อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ภายใต้ธีม “Connection, Glory, Future” ซึ่งเริ่มขึ้นพร้อมกันในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรไอซีทีให้แข็งแกร่งและยั่งยืนยิ่งขึ้น
โครงการ Huawei ICT Competition ซึ่งริเริ่มขึ้นในปี 2558 เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถของนิสิตนักศึกษาด้านไอซีทีทั่วโลก เพื่อคัดสรรและบ่มเพาะผู้ที่มีความสามารถในด้านดังกล่าว และจัดคอร์สฝึกอบรมระดับโลกรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจัดขึ้นร่วมกับหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่ (Huawei ICT Academy) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับองค์กร เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญคุณภาพสูงทางด้านไอซีทีให้มีจำนวนมากขึ้น การแข่งขันด้านไอซีทีนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมได้มีร่วมประลองทักษะในการแข่งขันชั้นนำ พัฒนาความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนพัฒนาต่อยอดความรู้เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรไอซีที กิจกรรม Huawei ICT Competition ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต (Seeds for the Future)” ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมของหัวเว่ย ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านไอซีทีในประเทศ และเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างประเทศและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน
การแข่งขัน Huawei ICT Competition 2021-2022 ในประเทศไทย ประกอบด้วยการแข่งขันหลายรอบ โดยนิสิตนักศึกษาที่มีความสนใจและมีพื้นฐานด้านไอซีที สามารถรวมกลุ่มและลงทะเบียนสมัครเป็นทีม ๆ ละ 3 คน และเริ่มศึกษาด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเทคโนโลยีด้านเน็ตเวิร์ก เช่น ดาต้าคอม หรือเทคโนโลยีด้านคลาวด์ เช่น คลาวด์ เซอร์วิส กิจกรรมทั้งหมดจะจัดขึ้นตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ทีมที่ชนะจะมีโอกาสลุ้นรับรางวัลสุดพิเศษ รวมถึงทริปเดินทางเพื่อพัฒนาความรู้ด้านไอซีที เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านวัฒนธรรม ตลอดจนถึงโอกาสในการทำงานที่หัวเว่ย
ตารางกิจกรรม Huawei ICT Competition 2021-2022 | |
ลงทะเบียน | 1-30 พฤศจิกายน |
การทดสอบเบื้องต้น | 4 ธันวาคม |
ประกาศทีมผู้เข้ารอบประเภทเครือข่าย (10 ทีม)ประเภทคลาวด์ (10 ทีม) | 8 ธันวาคม |
ค่ายฝึกอบรมกับหัวเว่ย | 17-19 ธันวาคม |
การทดสอบ HCIA (รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ) | 24-26 ธันวาคม |
ประกาศทีมชนะเลิศของประเทศไทยและพิธีมอบรางวัล | มกราคม 2565 |
รอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาค | กุมภาพันธ์ 2565 |
รอบชิงชนะเลิศระดับโลก | พฤษภาคม 2565 |
หมายเหตุ: ตารางข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น และอาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย ประเทศไทย กล่าวว่า “Huawei ICT Competition ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 นี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเฟ้นหาพันธมิตรรุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลของประเทศในอนาคต ประเทศไทยได้กลายเป็นผู้นำในการเปิดให้บริการ 5G ในภูมิภาคอาเซียน และแรงหนุนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาทางด้านดิจิทัลก็คือรากฐานด้านบุคลากรที่แข็งแกร่ง หัวเว่ยได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรดิจิทัลอย่างต่อเนื่องผ่านแพลตฟอร์มความร่วมมือและโครงการต่าง ๆ อย่างเช่นโครงการนี้ ในขณะที่ไอซีทีได้เติบโตไปสู่ทุกอุตสาหกรรมและกลายเป็นกุญแจดอกสำคัญในการพัฒนาและสร้างความก้าวหน้าทางสังคม”
นอกเหนือจากการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่โดดเด่นของบุคลากรด้านดิจิทัลในเวทีระดับโลกแล้ว โครงการ Huawei ICT Competition ยังเป็นโอกาสในการตอกย้ำคำมั่นที่จะทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นอีกด้วย หัวเว่ย ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ร่วมเดินหน้าสำรวจแนวทางการพัฒนาใหม่ ๆ และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเทคโนโลยีไอซีที พัฒนาบุคลากร และลดช่องว่างด้านความขาดแคลนบุคลากรในสาขานี้
นอกจากนี้ บริษัทยังเดินกลยุทธ์ในการร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเวทีที่เปิดกว้างและสร้างโอกาสใหม่ ๆ อย่างมั่นคง ซึ่งท้ายที่สุดจะสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างสมบูรณ์แบบ
นิสิตนักศึกษาที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://e.huawei.com/en/talent/#/news/details?consultationId=1483 และลงทะเบียนได้ที่นี่