การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ชูธงนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างแพลตฟอร์มตอบสนองการให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ผลักดันหลายโครงการสนับสนุนโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พร้อมกำหนดทิศทาง เสริมศักยภาพการใช้งานไฟฟ้า เดินหน้าพัฒนาพลังงานทดแทน ผนึกความร่วมมือองค์กรชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี สร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน
นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวถึง สถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมของไทย ในช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2564 ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีหน่วยจําหน่ายไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 93,569 ล้านหน่วย ขยายตัวร้อยละ 3.14 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยลูกค้ากลุ่มที่อยู่อาศัยยังคงมีอัตราการการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.42 ต่อเนื่องจากปี 2563 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากมาตรการภาครัฐในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งการทำงานที่บ้านและการเรียนออนไลน์ ส่วนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้ไฟฟ้าขยายตัวถึงร้อยละ 8.24 จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการกระตุ้นการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็ก และพลาสติก
“แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในบางธุรกิจลดลง อาทิ กลุ่มห้างสรรพสินค้าและธุรกิจโรงแรม แต่ในกลุ่มครัวเรือนและภาคการผลิตยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง PEA เตรียมความพร้อมทุกด้านเพื่อให้การใช้ไฟฟ้าเป็นไปอย่างราบรื่น สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานได้ครอบคลุม ขณะเดียวกัน ได้เพิ่มขีดความสามารถในการจำหน่ายไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและเสริมศักยภาพด้านการให้บริการ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางแนวโน้มของการใช้พลังงานไฟฟ้าและตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ควบคู่กับการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน PEA นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการทำงานในทุกส่วนขององค์กร ทั้งด้านโครงข่ายลูกค้า การพัฒนาบุคลากร รวมถึงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชันต่าง ๆ รองรับการใช้งานตามความต้องการทางธุรกิจโดยมีโครงการพัฒนาด้านพลังงานทดแทน ด้านการอนุรักษพลังงาน และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาระบบจำหน่ายไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ซึ่งขณะนี้ติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะ (Smart Meter) ในพื้นที่เมืองพัทยาแล้วจํานวน 116,308 เครื่อง อยู่ระหว่างการขยายโครงการไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติม โครงการไมโครกริด (Microgrid) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมากไปยังพื้นที่ห่างไกล เพื่อขยายเขตไฟฟ้าให้บ้านเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารสํานักงาน PEA 204 แห่ง โครงการพัฒนาอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) ณ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม รวมถึงโครงการร่วมทุนกับประเทศฟินแลนด์ เพื่อเปิดโรงไฟฟ้าที่จังหวัดระยอง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตในเดือน มกราคม 2565
นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบจำหน่ายไฟฟ้ารองรับเทรนด์การใช้พลังงานไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น โดยเตรียมการเก็บพลังงาน (Battery Storage) เพื่อเสริมประสิทธิภาพการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้มั่นคง เพียงพอ เชื่อถือได้นำอุปกรณ์ เทคโนโลยี แอปพลิเคชันต่าง ๆ เข้ามาใช้ในระบบ อาทิ มิเตอร์อัจฉริยะ AMI (Automatic Meter Reading) รวมทั้งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) โดยเฉพาะการดูแลเรื่องจุดชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญเรื่องพลังงานสะอาด (Renewable Energy)
PEA ยังกำหนดแนวทางนำดิจิทัลมาขับเคลื่อนและรองรับการบริหารโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืน รองรับโครงข่ายที่มีความซับซ้อนในอนาคต เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการหรือปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดาวเทียม โดยอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเน้นหน่วยงานและคู่ค้าที่มีความเป็นมืออาชีพ มีคุณธรรม และมีจรรยาบรรณ ประการสำคัญ คือ การวางแผนไปสู่เป้าหมายเพื่อเติบโตไปด้วยกัน
ล่าสุด PEA ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงาน ASEAN SUSTAINABLE ENERGY WEEK AND PUMPS & VALVES ASIA 2021 (ASEW & PVA – Virtual Edition) แสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนด้านพลังงานครั้งสำคัญของภูมิภาคอาเซียนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดย PEA ร่วมนำเสนอเทคโนโลยีที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้พัฒนาและนำมาใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น PEA Care and Services แอปพลิเคชันที่ให้บริการแบบครบวงจร หรือ One-Stop-Service ทั้งบริการตรวจสอบ ซ่อมแซม และบํารุงระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้า ตลอดจนบริการล้างเครื่องปรับอากาศที่ผู้ใช้งานสามารถแจ้งผ่านแอปพลิเคชันได้สะดวก รวดเร็ว PEA IHAPM นวัตกรรมสำหรับการควบคุมการใช้พลังงานอัจฉริยะผ่านสมาร์ทโฟน สามารถเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านมือถือ ไม่ว่าอยู่ที่ใดในโลก รวมทั้งสามารถอ่านค่าการใช้ไฟฟ้าและแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติของเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งควบคุมสั่งการด้วยระบบ AI
นอกจากนี้ ยังมี PEA Solar Energy Solutions บริการสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนพลังงานรูปแบบเดิม โดยสํารวจ ออกแบบ ติดตั้ง และจัดการพลังงาน ครบวงจร มี PEA Volta Platform ธุรกิจให้บริการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ PEA พัฒนาเพื่ออํานวยความสะดวกให้ผู้ใช้ยานยนต์และผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสามารถใช้บริการผ่านเครือข่าย PEA VOLTA Platform ได้อย่างสะดวก โดยเปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าและเครือข่ายสถานี PEA VOLTA Charging Station แล้ว จํานวน 57 สถานี และตั้งเป้าทยอยเปิดให้บริการเพิ่มรวมทั้งสิ้น 263 สถานี ภายในปี 2566 ครอบคลุมทางหลวงสายหลักของประเทศมีจุดชาร์จทุก 100 กิโลเมตร
“สำหรับการเข้าร่วมงาน ASEW & PVA 2021 – Virtual Edition ที่ผ่านมา นอกจากการได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนของทุกภาคส่วน เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนด้านพลังงานของประเทศรวมถึงภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง PEA พร้อมเดินหน้าความร่วมมือในทุกระดับและมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพการใช้ไฟฟ้า รองรับกับความเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร PEA พร้อมดูแลระบบจ่ายไฟฟ้าให้มั่นคง ปลอดภัย เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน พร้อมส่งเสริมและขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” นายศุภชัย กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามความหลากหลายของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า รวมถึงนวัตกรรมพลังงานสะอาดเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานจาก PEA ได้ที่ www.pea.co.th