Wednesday, 15 May 2024 | 4 : 43 pm

4Quarter.co

Wednesday, 15 May 2024 | 4 : 43 pm
BAM ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ระยะเวลา 6 เดือน หวังลดภาระลูกหนี้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว   •   เมืองไทยประกันชีวิต ลุยมหกรรมการเงินกรุงเทพ ครั้งที่ 24 ส่ง “ShieldLife – ตัวช่วยให้คุณเบาใจ ในวันที่คุณจากไป…” พร้อมบริการวางแผนความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ ตอบโจทย์ทุกความเป็นคุณ   •   กรุงเทพประกันชีวิต จัดพิธีมอบรางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จ สุดยอดนักขาย ในงาน Bangkok Life Agency Annual Awards 2023 “The Honor of Success”   •   “ไอยราแพลนเน็ต” จัดงาน “The Star Party” ธีม Millionaire Night เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จให้กับดาวดวงใหม่ ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ วานา นาวา หัวหิน   •   ท่องเที่ยวทั่วโลกรับคุ้ม 3 ต่อ กับกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์   •   ไทยประกันชีวิต เผยผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2567 กำไรสุทธิยังแข็งแกร่งอยู่ที่ 3,132 ล้านบาท มีมูลค่ากำไรของธุรกิจใหม่ (VONB) ที่ 1,836 ล้านบาท เติบโต 7.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน   •   FWD Music Live Fest 3 #TimeToPlaySongkran เวทีแห่งโอกาสของคลื่นลูกใหม่ ปล่อยพลังโชว์สกิลทางดนตรีบนเวทีเดียวกับศิลปินชื่อดัง   •   รู้ใจ ประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการบริษัท   •   พรูเด็นเชียล ประเทศไทย รับรางวัลคุณวุฒิตัวแทนยอดเยี่ยมแห่งชาติ ประจำปี 2567   •   เคทีซี ร่วมสนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุตร-ธิดา สมาชิกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ   •   กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จัดกิจกรรมลูกค้าสุดเอ็กซ์คลูชีฟต่อเนื่องปีที่ 3 กับกิจกรรม “The First Ultimate Big Fan by Krungthai-AXA Life SS3” ณ เกาะสมุย   •   ทิพยประกันภัย เชิญชวนร่วมงาน Money Expo 2024 “TIP ONLY YOU FEST ลด รับ ชิง ได้จริง 3 ต่อ”   •   TOA ทำกำไรไตรมาส 1/67 เติบโตกว่า 27% พร้อมเดินหน้าธุรกิจสู่ปีที่ 60 เติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติ   •   วิริยะประกันภัย ร่วมสนับสนุน สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ มอบทุนการศึกษาบุตร – ธิดา ปี ’67   •   เอไอเอ ประเทศไทย ครองอันดับ 1 รางวัลคุณวุฒิตัวแทนยอดเยี่ยมแห่งชาติ (National Agent Awards) ครั้งที่ 24 ประจำปี 2567   •   OCEAN LIFE ไทยสมุทร ส่งประกันสะสมทรัพย์จ่ายเบี้ยสั้น รับเงินคืนไวแบบติดสปีด “โอเชี่ยนไลฟ์ สมาร์ท โกล 5/3” ให้คุณพร้อมทุกโอกาสในการสร้างเงิน   •   เคทีซี จัดทัพ เผย 3 กลยุทธ์กระตุ้นใช้จ่ายหมวดท่องเที่ยว หวังสมาชิกนักเดินทางจดจำ “เคทีซีเรื่องเที่ยวบัตรเดียวครบ”   •   KBank Private Banking จับมือ EQT บริษัทกองทุนหุ้นนอกตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก เปิดประตูสู่โอกาสใหม่ไปกับกองทุนหุ้นนอกตลาดกึ่งสภาพคล่อง   •   4 สุดยอดตัวแทน กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต คว้ารางวัลตัวแทนยอดเยี่ยม จากงานรางวัลตัวแทนยอดเยี่ยมแห่งชาติ (National Agent Awards)ประจำปี 2567   •   บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) รับมอบใบประกาศเกียรติคุณ “องค์กรที่สร้างคุณค่าในด้านการให้ความรู้แก่สังคม” จาก สำนักงาน ก.ล.ต. ในโครงการ ตลาดทุนไทย ร่วมใจส่งพลังความรู้ สู่ประชาชน”   •   สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงผลงาน 1 ปี ชี้ชะตาธุรกิจประกันวินาศภัย สู่เป้าหมายการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง   •   ธ.ก.ส. ต้อนรับธนาคารแห่ง สปป. ลาว ในโครงการศึกษาดูงานการให้บริการสินเชื่อเพื่อการเกษตร   •   การเคหะแห่งชาติ เปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนรับบริหารอาคารเช่า   •   ออมสิน ออกสินเชื่อต้อนรับเปิดเทอม แบ่งเบาภาระผู้ปกครองตามนโยบายรัฐ ครอบคลุมค่าเทอม ชุดนักเรียน และอุปกรณ์ ดอกเบี้ยคงที่ 0.60% ต่อเดือน ผ่อนนาน 1 ปี   •   BAM ร่วมกับสภากาชาดไทย จัดทำโครงการ HOME & HOPE ต่อเนื่องปีที่ 4 มอบเงินสร้างบ้านให้กับผู้ด้อยโอกาส จังหวัดจันทบุรี   •   คปภ. ห่วงใยประชาชน-เกษตรกร แนะใช้ระบบประกันภัยบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ   •   FWD ประกันชีวิต ร่วมฉลองความสำเร็จตัวแทนประกันชีวิต รับรางวัลคุณวุฒิตัวแทนยอดเยี่ยมแห่งชาติ ครั้งที่ 24 ประจำปี 2567   •   เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ เอาใจสายวิ่ง สนับสนุนงาน “Generali presents Khaokho Marathon 2024” ต่อเนื่องปีที่ 5   •   กองทัพบก-ไทยประกันชีวิต ต่อสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิตทหาร   •   เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง จับมือ กรุงศรี ลงนามข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ นำนวัตกรรมเสริมแกร่งธุรกิจ ขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Net Zero มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ส.ประกันวินาศภัยไทย คาดการณ์ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ปี ’65 โต 3.5%-4.5% พร้อมเดินหน้าโครงการธนาคารน้ำใต้ดินทุ่งกุลาร้องไห้ตามแนวคิด ESG

สมาคมประกันวินาศภัยไทย คาดการณ์ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 65 เติบโต 3.5%-4.5% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการธนาคารน้ำใต้ดินทุ่งกุลาร้องไห้ตามแนวคิด ESG เพื่อพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนมิถุนายน 2565 รวม 6 เดือนที่ผ่านมา มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 132,741 ล้านบาท เติบโต 2.1% โดยคาดการณ์ทั้งปี 2565 เติบโต 3.5%-4.5% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 272,000-274,600 ล้านบาท และคาดว่าปี 2566 จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 282,200-287,900 ล้านบาท หรือเติบโตราว 4.5%-5.5% จากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงภาพรวมผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2565 ว่า ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังจากถดถอยมาจากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจประกันวินาศภัยต้องฝ่าฟันผลกระทบต่าง ๆ ทั้งจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ช่วงต้นปีถึงกลางปี และความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน แต่ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยรวม 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา (ไตรมาส 2 ปี 2565) ยังคงมีอัตราการเติบโต 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 132,741 ล้านบาท โดยการประกันภัยแต่ละประเภทยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี

สำหรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2565 ทั้งปีนั้น สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (IPRB) สมาคมประกันวินาศภัยไทย ประมาณการว่า จะเติบโตราว 3.5%-4.5% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 272,000-274,600 ล้านบาท โดยการประกันภัยแทบทุกประเภทมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 เริ่มคลี่คลาย มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ยอดจำหน่ายรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว การท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลดีต่อการประกันภัย และคาดการณ์ว่าปี 2566 จะมีอัตราการเติบโตราว 4.5%-5.5% เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 282,200-287,900 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการที่ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวถึงรายละเอียดผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยประเภทต่าง ๆ ณ ไตรมาส 2 (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2565 ว่า เป็นส่วนของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยรถยนต์จำนวน 75,453 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.0%) โดยเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมและการคลี่คลายของปัญหาชิ้นส่วนในการผลิตขาดตลาด ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้จำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยต่อกรมธรรม์ของการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยรถยนต์ทั้งปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันอัคคีภัยมีจำนวน 5,325 ล้านบาท (ลดลง 3.4%) โดยลดลงตามมูลค่าการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ลดลงในครึ่งปีแรก ส่วนเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยทางทะเลและขนส่งมีจำนวน 3,553 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 12.4%) โดยเพิ่มขึ้นจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการที่มากขึ้นของผู้บริโภคซึ่งส่งผลดีต่อการประกันภัยขนส่ง มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดมีจำนวน 48,411 ล้านบาท (ลดลง 0.8%) โดยลดลงจากการที่เบี้ยประกันภัย COVID-19 กว่า 6,000 ล้านบาทหายไปจากตลาด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการประกันภัยการเดินทาง ซึ่งอยู่ในกลุ่มของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดนั้น มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงเพิ่มสูงขึ้นมากเป็น 1,243 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 238.6%) สืบเนื่องมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ตลอดจนการเปิดประเทศและการคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศได้มากขึ้น

สำหรับอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ของการประกันวินาศภัยประเภทต่าง ๆ ณ ไตรมาส 2 (มกราคม – มิถุนายน) ของปี 2565 นั้น พบว่า อัตราความเสียหายโดยรวมของการประกันภัยทุกประเภทนั้นเท่ากับ 121.0% โดยอัตราความเสียหายของการประกันภัยรถยนต์เท่ากับ 55.3% อัตราความเสียหายของการประกันอัคคีภัยเท่ากับ 21.9% อัตราความเสียหายของการประกันภัยทางทะเลเท่ากับ 36.6% และอัตราความเสียหายของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดเท่ากับ 300.9% โดยสาเหตุที่อัตราความเสียหายของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดสูงขึ้นมากนั้นเป็นเพราะรวมความเสียหายของการประกันภัย COVID-19 ในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงมาก ในส่วนของโครงการประกันภัยพืชผล ปีการผลิต 2564 ที่กำลังจะสรุปปิดโครงการนั้น มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 3,823.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.5% ของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งหมดของการประกันภัยทุกประเภท โดยเป็นเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี 3,568.4 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 255.3 ล้านบาท ส่วนอัตราความเสียหายของการประกันภัยข้าวนาปีนั้นเท่ากับ 47.8% ในขณะที่อัตราความเสียหายของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เท่ากับ 22.5% ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาไม่มีความเสียหายขนาดใหญ่หรือความเสียหายในวงกว้างเกิดขึ้นมากนักกับแปลงเพาะปลูกที่เอาประกันภัยในโครงการฯ

นายอานนท์ วังวสุ กล่าวเสริมว่า นอกจากการทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนของสมาคมประกันวินาศภัยไทยที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องอย่างยาวนานเป็นเวลา 55 ปีแล้ว สมาคมฯ ยังมีเป้าประสงค์ให้ธุรกิจประกันวินาศภัยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนเคียงคู่สังคมไทย สมาคมฯ จึงได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามพันธกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลักตามแนวคิด ESG ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน คือ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้ยึดมั่นดำเนินงานตามหลักธรรมภิบาลรวมทั้งให้การสนับสนุนกิจกรรมและโครงการที่สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยไทยมาโดยตลอด

หนึ่งในโครงการที่สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ดำเนินการและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องคือ โครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน หรือ “โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องประสบกับภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก ตามเจตนารมณ์ของสมาคมฯ ในการเปลี่ยนให้พื้นที่ “ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็น ทุ่งกุลายิ้มได้”

โดยสมาคมประกันวินาศภัยไทย ในฐานะผู้บริหารโครงการประกันภัยข้าวนาปี มาตั้งแต่ปี 2554 ได้มีการจัดตั้งกองทุนประกันภัยข้าวนาปีขึ้น ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นเงินสมทบจาก “บริษัท” ที่เข้าร่วมรับประกันภัย และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กองทุนประกันภัยพืชผล” เมื่อปี 2561 เนื่องจากมีโครงการประกันภัยพืชอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้เอาประกันภัยข้าวนาปี กรณีที่พื้นที่ที่เอาประกันภัยประสบภัยพิบัติ แต่ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน สมาคมฯ จึงนำเงินนี้บางส่วนมาช่วยเหลือเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องประสบกับภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก โดยได้เลือกพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดของประเทศไทย และประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากอยู่เป็นประจำ มาเป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินดังกล่าว

โครงการธนาคารน้ำใต้ดินข้างต้นเป็นโครงการที่สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ร่วมกับ สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ โดยพระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้ดำเนินการจัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้อย่างเต็มรูปแบบไปแล้วรวมทั้งสิ้น 3 โครงการ ได้แก่ ธนาคารน้ำใต้ดิน “หนองฮีโมเดล” ตำบลดูกอึ่งและตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด ธนาคารน้ำใต้ดินตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และ ธนาคารน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด รวมใช้งบประมาณทั้งสิ้น 45,485,500 บาท ครอบคลุมพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้กว่า 169,475 ไร่ หรือคิดเป็น 8.4% ของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้

ทั้งนี้ ในปี 2565 สมาคมฯ ยังได้ขยายพื้นที่การดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ณ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ใช้งบประมาณรวม 16,131,500 บาท ครอบคลุมพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เพิ่มขึ้นอีก 47,052 ไร่ ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยหากโครงการนี้แล้วเสร็จ การทำธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ทั้ง 4 โครงการนี้จะส่งผลให้น้ำใต้ดินแผ่กระจายไปโดยรอบตามทิศทางการเคลื่อนตัวของโลก การเติมน้ำลงใต้ดินมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดแหล่งน้ำใต้ดินเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ ส่งผลให้พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในบริเวณเครือข่ายนี้มีความชุ่มชื้นและดูดซับน้ำได้มากขึ้น ลดปัญหาการเกิดภัยแล้งและน้ำท่วม ช่วยให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ดีขึ้นเนื่องจากมีน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอและยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ หากโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่สมาคมฯ ดำเนินการอยู่นี้ประสบผลสำเร็จในการลดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมก็จะเป็นโครงการตัวอย่างให้ภาครัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่ต้องการทำโครงการเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนสามารถนำไปดำเนินการขยายผลทำธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยได้ต่อไปด้วย

“การทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนี้เป็นทิศทางที่สมาคมฯ มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่ ESG ที่เป็นการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนต่อไป” นายอานนท์ วังวสุ กล่าวปิดท้าย

นอกจากการนำเสนอภาพรวมของผลประกอบการและแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยรวมทั้งโครงการเพื่อสังคมของสมาคมประกันวินาศภัยไทยแล้ว สมาคมฯ ยังได้จัดเสวนาพิเศษร่วมกับคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ในประเด็นของโอกาส ความท้าทาย ตลอดจนสิ่งที่ธุรกิจประกันวินาศภัยจะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจด้วย โดยคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้นำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจโดยสรุป ดังนี้

นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ เลขาธิการ สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวถึงประเด็นเรื่อง โอกาสของของธุรกิจประกันวินาศภัยใน CLMV ว่า CLMV หรือกลุ่มอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งได้แก่ ประเทศกัมพูชา (Cambodia) สปป.ลาว (Lao PDR) เมียนมา (Myanmar) และเวียดนาม (Vietnam) นับเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับความสนใจในการเข้าไปลงทุนของต่างประเทศ รวมถึงไทย เนื่องจากมีขนาดตลาดที่ใหญ่โดยมีประชากรรวมกันถึง 177 ล้านคนและมี GDP รวมกัน 4.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขนาดเศรษฐกิจโดยรวมใกล้เคียงกับไทยแต่มีประชากรมากกว่าไทยถึง 100 ล้านคน หรือ 1.5 เท่า พร้อมกันนั้น เศรษฐกิจของ CLMV ยังมีการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 ทุกประเทศใน CLMV มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 6-7 ต่อปี และหดตัวลงในช่วงการระบาดของ COVID-19

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์จาก World Bank ว่า เศรษฐกิจของ CLMV จะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ไทยเติบโตเฉลี่ยในระดับที่ต่ำคือ ร้อยละ 3 ต่อปี จากการที่เศรษฐกิจของ CLMV มีการเติบโตที่สูงและประชากรเข้าสู่ชนชั้นกลางมากขึ้น ส่งผลให้ในปัจจุบัน CLMV ได้เข้าสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับล่าง (Lower-middle income countries: 1,086-4,255 ดอลลาร์สหรัฐ) แล้ว และในไม่ช้า เวียดนามมีแนวโน้มที่จะเลื่อนขึ้นไปเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper-middle income countries) เช่นเดียวกับไทยที่อยู่ในกลุ่มนี้ตั้งแต่ปี 2010 ยิ่งไปกว่านั้น ประชากรส่วนใหญ่ของ CLMV ยังอยู่ในช่วงวัยทำงานและเยาวชนที่พร้อมจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งแตกต่างจากไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ปี 2022 ที่ในอนาคตจะต้องมีการพึ่งพิงวัยแรงงานอย่างมาก ส่งผลให้เม็ดเงินจำนวนมากจากต่างประเทศ รวมถึงไทยได้หลั่งไหลเข้าไปลงทุนใน CLMV

ปัจจุบันธุรกิจของไทยได้เข้าไปลงทุนใน CLMV เป็นจำนวนมาก จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า มีบริษัทขนาดใหญ่จำนวน 59 รายได้เข้าไปประกอบธุรกิจใน CLMV เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังคงมีธุรกิจอีกจำนวนมากที่กำลังจะเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจประกันภัย ในปัจจุบันมีบริษัทประกันภัย ประกันชีวิต และประกันภัยต่อของไทยเข้าไปประกอบธุรกิจใน CLMV รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 12 บริษัท

ธุรกิจประกันภัยของ CLMV มีมูลค่า 9,796 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1 ใน 3 ของขนาดตลาดของไทย เมื่อวัดจากเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง โดยเวียดนามเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ CLMV ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงร้อยละ 95 ของเบี้ยทั้งหมด ถึงแม้ว่า Insurance penetration ของ CLMV จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน้อยโดยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 – 2.6 เมื่อเทียบกับไทยที่อยู่ในระดับร้อยละ 5.5 แต่เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สูง ความพร้อมเข้าสู่วัยแรงงานของประชากร การมีรายได้มากขึ้นของประชากร การเข้าสู่สังคมชนชั้นกลาง และการพัฒนาเป็นเมืองมากขึ้นของ CLMV สามารถแสดงให้เห็นได้ว่า ธุรกิจประกันภัยของ CLMV มีอนาคตที่สดใส และมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีกมาก พร้อมกันนั้น เมื่อพิจารณาจากมูลค่าเบี้ยประกันภัยต่อประชากรของประเทศ CLMV เปรียบเทียบกับไทย พบว่า ตลาดประกันภัยของไทยมีความก้าวหน้ากว่าตลาด CLMV มาก ทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ซึ่งเป็นโอกาสของธุรกิจประกันภัยไทยที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจใน CLMV เนื่องจาก
1) ตลาด CLMV มีประชากรจำนวนมากและมีกำลังซื้อที่สูงขึ้น
2) ประชากรของ CLMV มีความคุ้นเคยกับสินค้าและบริการของไทยอยู่แล้ว รวมถึงธุรกิจประกันภัยของไทยยังมีความเข้าใจความเป็น CLMV ในระดับที่ค่อนข้างสูง หากนำผลิตภัณฑ์ประกันภัยและบริการของไทยเข้าสู่ตลาด CLMV คาดว่าจะตรงต่อความต้องการและเป็นที่ถูกใจของผู้บริโภคชาว CLMV
3) ไทยเป็น Medical Hub ของ AEC และ CLMV จึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ประชากร CLMV ที่มีกำลังซื้อสูงมีความต้องการที่จะเข้ามารักษาในไทย หากมีผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพรวมถึงบริการทางด้านสุขภาพที่ขายประชากรกลุ่มนี้ คาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
4) ผลิตภัณฑ์ประกันภัยและบริการของธุรกิจประกันภัยของไทยมีการพัฒนาทางด้านการประกันภัยมาอย่างยาวนาน และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้จนเห็นผลแล้ว จะเป็นสิ่งที่สร้างความได้เปรียบให้กับบริษัทประกันภัยของไทยที่ไปประกอบธุรกิจใน CLMV ให้สามารถออกผลิตภัณฑ์สู่ตลาด CLMV ได้อย่างรวดเร็วและสามารถแข่งขันกับบริษัทประกันภัยใน CLMV ได้

นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี ประธานคณะกรรมการการบัญชี-การเงิน และการลงทุน กล่าวถึงประเด็นเรื่อง การเตรียมความพร้อมของธุรกิจประกันวินาศภัยสำหรับ มาตรฐานบัญชี IFRS17 เรื่อง สัญญาประกันภัย ว่า จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 โดยธุรกิจประกันวินาศภัยไทยจะต้องเริ่มนำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน IFRS17 นี้มาใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันวินาศภัยไทยในแง่ที่เป็นงบการเงินที่แสดงฐานะการเงินได้ชัดเจนและเข้าใจง่ายต่อนักลงทุน ผู้เอาประกันภัย และผู้บริหาร เพื่อยกระดับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระดับสากลของธุรกิจประกันวินาศภัยไทย สามารถเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมและธุรกิจอื่น ๆ ได้ ตลอดจนผู้บริหารของบริษัทจะรับทราบผลประกอบการที่แท้จริงตลอดเวลาของบริษัทว่ามี Underwriting Profit หรือ Loss ในกลุ่มงานรับประกันใด เพื่อนำไปปรับปรุงกลยุทธ์ในการรับประกันของบริษัท

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมในเรื่อง IFRS17 ให้กับบริษัทสมาชิกนั้น ทางคณะกรรมการการบัญชี-การเงิน และการลงทุน สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรมาตรฐานการรายงานทางการเงิน IFRS17 เรื่อง สัญญาประกันภัย เพื่อเจาะลึกในเรื่องสำคัญ ๆ ตามขั้นตอน ในการนำมาตรฐาน IFRS17 มาปฏิบัติใช้ มีการจัดจ้าง บริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาผลกระทบทางด้านการเงิน และเตรียมความพร้อมในการนำมาตรฐาน IFRS17 มาใช้ จัดหาบริษัท Vendor มานำเสนอการใช้งานโปรแกรมภายใต้มาตรฐาน IFRS17 ให้กับบริษัทสมาชิก รวมถึงจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับมาตรฐาน IFRS17 (IFRS17 Guidelines) พร้อมทั้งจัดอบรมเพื่อชี้แจงแนวปฏิบัติ (IFRS17 Guidelines) ให้กับบริษัทสมาชิก

สำหรับสิ่งที่ทางคณะกรรมการฯ วางแผนที่จะดำเนินการต่อเพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่อง IFRS17 ให้กับบริษัทสมาชิก คือ การจัดอบรมหลักสูตรนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเกี่ยวกับ IFRS17 เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านบุคลากร ทั้งนักคณิตศาสตร์ นักบัญชี และนักบริหารความเสี่ยง ให้ได้ถึง 200 คน ในอีก 2 ปีข้างหน้า ก่อนที่มาตรฐาน IFRS17 จะมีผลบังคับใช้ ตลอดจนการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาผลกระทบ และเตรียมความพร้อมทางด้านภาษีอากร ในการนำมาตรฐาน IFRS17 มาใช้

นายปิยะพัฒน์ วนอุกฤษฏ์ ประธานคณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ กล่าวถึงประเด็นเรื่อง โอกาสและความท้าทายธุรกิจประกันสุขภาพผู้สูงอายุ ว่า “ผู้สูงอายุ” ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุเกินกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย จากนิยามดังกล่าวประชากรผู้สูงอายุไทย โดยข้อมูลของกรมกิจการผู้สูงอายุ พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 12.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด และสังคมไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2565 นี้ เท่ากับว่าประเทศไทยใช้เวลาตั้งแต่เริ่มเป็นสังคมสูงอายุในปี 2548 ที่มีจำนวนผู้สูงอายุเกินร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปโดยใช้เวลาเพียง 17 ปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยคาดการณ์ในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด คือ มีอัตราส่วนของผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด

เมื่ออายุมากขึ้นปัญหาสุขภาพย่อมเสื่อมถอยและอ่อนแอลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งโรคและปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ แบ่งออกได้ 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 กลุ่มโรคทั่วไป ได้แก่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases: NCDs) ที่สำคัญได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคปอดเรื่อรัง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน โดยมีสาเหตุจากพฤติกรรมร่วมจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา บริโภคอาหารไม่เหมาะสม และขาดการออกกำลังกาย รวมถึงปัจจัยเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง น้ำหนักเกินและโรคอ้วน และไขมันในเลือดสูง ส่งผลให้เกิดโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองใหญ่ อัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคเบาหวาน

โดยอัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินต่อประชากรแสนคนของประชากรทุกช่วงวัยด้วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นจาก 43.3 ราย ในปี 2558 เป็น 53.3 ราย ในปี 2562 และโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น จาก 29.9 ราย ในปี 2558 เป็น 31.4 ราย ในปี 2562 และการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินผู้สูงอายุ 85 ปีขึ้นไป เป็นช่วงอายุที่มีการเจ็บป่วยฉุกเฉินสูงที่สุด รองลงมา คือ ช่วงอายุ 75-84 ปี และช่วงอายุ 65-74 ปี ตามลำดับ และพบว่าเป็นผู้ป่วยสูงอายุชายที่มารับบริการในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2562 มีจำนวนกว่า 5.1 ล้านคน เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานมากที่สุด ร้อยละ 19.90 โรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 5.83 โรคข้อเสื่อมร้อยละ 5.80 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร้อยละ 3.75 โรคหัวใจขาดเลือดร้อยละ 2.59 วัณโรค ร้อยละ 2.64 หูหนวก ร้อยละ 1.81 โรคมะเร็งตับ ร้อยละ 0.50 โรคสมองเสื่อม ร้อยละ 0.48 และโรคมะเร็งหลอดลมและปอด ร้อยละ 0.01 ตามลำดับ

กลุ่มที่ 2 กลุ่มอาการที่เกิดเฉพาะกับผู้สูงอายุและพบบ่อย ๆ และ มักสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อาการสับสนและสูญเสียความทรงจำ ภาวะกระดูกพรุน ปัญหาการทรงตัวและการหกล้ม การนอนไม่หลับ ปัญหาการกลั้นอุจจาระและปัสสาวะ อาการมึนงง เวียนศีรษะ ปัญหาภาวะทุพโภชนาการและความผิดปกติในการรับประทานอาหาร ปัญหาการได้ยิน และปัญหาการมองเห็น

สำหรับประเทศไทยนั้น ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงสวัสดิการหลักของรัฐ ได้แก่ สวัสดิการข้าราชการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง”และประกันสังคม โดยในปี 2562 ผู้สูงอายุไทยจะมีสิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในสัดส่วนที่สูงที่สุด (ร้อยละ 81) สิทธิประกันสังคม (ร้อยละ 14) และสวัสดิการข้าราชการ (ร้อยละ 4.53) ซึ่งข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจาก 3 กองทุนสามารถสรุปได้ว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากที่สุด คือ ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของกลุ่มโรคระบบไหลเวียนโลหิต โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังของระบบหายใจ ตามลำดับ

จากการคาดการณ์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2575 มีค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพประมาณ 3,381 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการประมาณการที่สอดคล้องกับกรณีสังคมสูงวัย การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยนั้นส่งผลต่อแรงกดดันเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ประเทศหรือประชาชนในประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับประเทศก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย คณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงมีข้อเสนอแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่ คงสิทธิการปรับเบี้ยประกันภัยแต่ละราย การปรับเบี้ยประกันภัย ขั้นต่ำ – ขั้นสูง สำหรับผู้สูงอายุให้มีความกว้างขึ้น สามารถใช้เงื่อนไข Life time limit หรือความรับผิดสูงสุดตลอดอายุสัญญาประกันภัย กำหนดเรื่อง Co-Payment แบบเฉพาะโรค ภาครัฐกระตุ้นและส่งเสริมให้มีการซื้อประกันสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย และผลักดันให้สามารถใช้ประกันสุขภาพร่วมกับสวัสดิการของรัฐโดยเฉพาะโรงพยาบาลของภาครัฐได้

นายวาสิต ล่ำซำ ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ กล่าวถึงประเด็นเรื่อง การประยุกต์ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยรถยนต์ เพื่อบริหารจัดการปัญหาการฉ้อฉลประกันภัย และ ความพร้อมของอุตสาหกรรมประกันภัยรถยนต์กับการประกันภัยรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ว่า ในส่วนของการบริหารจัดการปัญหาการฉ้อฉลในอุตสาหกรรมประกันภัย โดยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้น สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาเรื่องการฉ้อฉลประกันภัยและเพื่อสร้างฐานข้อมูลร่วมกันของภาคธุรกิจ จึงได้จัดตั้ง “คณะทำงานศึกษาและแก้ไขปัญหาการฉ้อฉลประกันภัย (IFWG)” ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการปัญหาการฉ้อฉลในอุตสาหกรรมประกันภัยให้เป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มต้นจากการประกันภัยรถยนต์ก่อน ในปัจจุบันประเทศที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) จัดการปัญหาการฉ้อฉลในอุตสาหกรรมประกันภัย ได้แก่ General Insurance Association of Singapore (GIAS) และ The Hong Kong Federation of Insurance (HKFI) ขณะนี้อยู่ระหว่างที่คณะทำงานฯ เตรียมพิจารณาคัดเลือกระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับการบริหารจัดการปัญหาการฉ้อฉลในอุตสาหกรรมประกันภัย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ผู้เอาประกันภัยในภาพรวมที่หากสามารถลดหรือขจัดการฉ้อฉลลงได้ จะสามารถทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยไปอยู่ในระดับที่เหมาะสมในอนาคต

ในส่วนของความพร้อมของอุตสาหกรรมประกันภัยรถยนต์กับการประกันภัยรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle: EV) หรือรถ EV นั้น จากกระแสความนิยมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น คณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมให้กับบริษัทสมาชิกเพื่อให้สามารถดำเนินการจัดการสินไหมทดแทนได้อย่างถูกต้อง รวมถึงเพื่อให้การรับประกันภัยรถประเภทดังกล่าวได้ตามความเสี่ยงภัยที่แท้จริง โดยคณะกรรมการฯ ได้มีการจัดศึกษาดูงาน และอบรมให้ความรู้กับบริษัทสมาชิกเกี่ยวกับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในเรื่องโครงสร้างและการทำงานของระบบต่าง ๆ ของแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า ตลอดจนการซ่อมและการบำรุงรักษารถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้แก่ สถาบันยานยนต์ คณะวิศกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้รวบรวมข้อมูลรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อจัดทำฐานข้อมูลราคากลางสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในระบบ TGIABOOK ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2019-2022 จำนวน 17 ยี่ห้อ 56 รุ่น

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ยังคงมีความกังวลในเรื่องการซ่อมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (รถ EV) จึงได้ดำเนินการประสานไปยังผู้ผลิตหลายเจ้า เพื่อรวบรวมข้อมูลการจัดซ่อมและกำหนดเป็นราคาค่าซ่อมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (รถ EV) ร่วมกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้จัดทำพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (รถ EV) โดยได้มีการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย และรหัสรถยนต์ คือ ตัวอักษร E เพื่อรองรับสำหรับการรับประกันภัยรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 65/2563 เรื่อง ให้แก้ไข เพิ่มเติมแบบข้อความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ สั่ง ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2563 และหากในระยะ 3 ปี การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า(รถ EV) เติบโตอย่างที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ ก็จะส่งผลให้มีข้อมูลจำนวนมากพอเพื่อให้สามารถดำเนินการจัดทำพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (รถ EV) ได้ต่อไป

นางสาวสุชาวดี แสงอนงค์ ประธานคณะกรรมการประกันภัยเบ็ดเตล็ด กล่าวถึงประเด็นเรื่อง การประกันภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล (Personal Cyber Insurance) ว่า จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศง่ายขึ้น เป็นวิถีแห่งยุคดิจิทัล การเข้าถึงข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงิน การซื้อสินค้าต่าง ๆ ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากเพียงแค่มีโทรศัพท์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ยิ่งในปีที่ผ่านมาหลังจากสถานการณ์ COVID-19 แพร่ระบาดประชาชนได้เปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นแบบ New Normal ทำให้การออกมาทำกิจกรรมนอกสถานที่ลดลง แต่เมื่อดูเรื่องการจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางออนไลน์กลับมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันในปี 2565 มีจำนวนมูลค่าการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์อยู่ที่ 682,920 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่าการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ 90,000 ล้านบาทอยู่ถึง 7.6 เท่า

อย่างไรก็ตาม นอกจากประโยชน์อันมากมายที่ผู้ใช้ได้รับจากเทคโนโลยีอันทันสมัยก็ยังมีสิ่งที่แฝงมาด้วยภัยที่อาจคุกคามชีวิตและทำให้สูญเสียทรัพย์สินเงินทองได้ง่ายจากเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน จากการสำรวจสถิติภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ทั้งจากข้อมูลของสำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และศูนย์บริการประชาชนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พบว่า สาเหตุที่มีผู้มาร้องเรียน 3 อันดับแรก คือ การให้ร้ายกันในสื่อสังคมออนไลน์ ความเสียหายจากการถูกแฮก เพื่อปรับเปลี่ยน ขโมย ทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ การหลอกซื้อขายสินค้าและบริการ

ดังนั้นจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ภาคธุรกิจจึงได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อเข้ามารองรับ ความเสี่ยง คือ กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกอันเกิดจากการละเมิดข้อมูล ส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ต หรือ (Personal Cyber Insurance) โดยมีความคุ้มครอง ดังนี้ 1. การโจรกรรมเงินผ่านออนไลน์ (Online Theft) 2. การถูกฉ้อโกงให้ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ (Online Shopping Fraud) 3. การถูกหลอกลวงให้ขายสินค้าผ่านออนไลน์ (Online Sales) 4. การถูกกลั่นแกล้งผ่านออนไลน์ (Cyber Bullying) 5. การถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวทางออนไลน์ (Identity Theft) 6. การถูกแฮกระบบบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) 7. การกู้ข้อมูล และ/หรือ การล้างข้อมูลบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Data Recovery) 8. การเปลี่ยนฮาร์ดแวร์บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล

ความคุ้มครองสำหรับความเสียหายจากภัยโจรกรรมทางอินเทอร์เน็ต การถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางการเงิน การถูกกลั่นแกล้งที่ทำให้กิดความเสียหายต่อชื่อเสียง รวมถึงการถูกฉ้อโกงจากการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ปัจจุบันประชาชนสามารถดำเนินการซื้อประกันภัยเพื่อคุ้มครองได้อย่างง่ายดายผ่านทางออนไลน์ซึ่งมีจำหน่ายอยู่หลายบริษัท ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทประกันภัย แอปพลิเคชันธนาคาร หรือเว็บไซต์ของผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท (ตัวแทน-นายหน้า) ซึ่งมีให้เลือกในราคาย่อมเยาและตอบโจทย์ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่จำนวนมากในปัจจุบัน

จากที่กล่าวมาเพื่อชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้น จึงเชื่อได้ว่าการประกันภัยไซเบอร์จะมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเมื่อดูแนวโน้มในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกซึ่งประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง และความเสี่ยงจากการใช้จ่ายเงินทางออนไลน์ที่ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ได้ทวีความรุนแรงและมีความสลับซ้อนจนยากที่จะป้องกัน ทำให้ประชาชนหันมาซื้อประกันภัยไซเบอร์เพื่อปกป้องตนเองมากขึ้น

ดร.ปิยวดี โขวิฑูรกิจ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย และ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจและวิชาการประกันภัย กล่าวถึงประเด็นเรื่อง การเสริมสร้าง Insurance Literacy ว่า ผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศประกันภัยในประเทศไทยนั้นยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของหลักการประกันภัยและการใช้ประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ด้วยเหตุนี้ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการประกันภัยให้กับทุกภาคส่วนจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเร่งด่วนเป็นอย่างยิ่ง

ในส่วนของบริษัทประกันภัยนั้น ต้องมีความเข้าใจและรู้จักความเสี่ยงที่ตนจะรับประกันภัยเป็นอย่างดี ทั้งความเสี่ยงโดยทั่วไปและความเสี่ยงอุบัติใหม่ (Emerging Risk) โดยต้องเข้าใจถึง Risk Profile ของความเสี่ยงและติดตาม Risk Landscape ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยงและเงินกองทุนของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคนั้น ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบและพิจารณาด้วยว่า ความเสี่ยงที่บริษัทประกันภัยจะรับมานั้น เป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรรับประกันภัย (Uninsurable Risk) หรือความเสี่ยงซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายที่เป็นมหันตภัย (Catastrophic Risk) หรือความเสี่ยงอุบัติใหม่ (Emerging Risk) ซึ่งยังขาดข้อมูลและสถิติที่เพียงพอหรือไม่ และเบี้ยประกันภัยสอดคล้องกับความเสี่ยงหรือไม่ ประกันภัยโควิด-19 เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ความเสียหายที่เป็นมหันตภัยนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการรับประภัยเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่สามารถเกิดกับการรับประกันรายบุคคลได้เช่นกัน

สำหรับผู้กำกับดูแลนั้น นอกจากการให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้เอาประกันภัยแล้ว ควรเพิ่มการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของธุรกิจประกันภัย รวมถึงการเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินและการกำกับดูแลเสถียรภาพระดับมหภาค ตามที่กำหนดไว้ใน Insurance Core Principles ซึ่งเปรียบเสมือนคัมภีร์ในการกำกับธุรกิจประกันภัยด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบประกันภัย และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังเช่นวิกฤตประกันภัยโควิด-19 ที่ผ่านมา

ในส่วนของประชาชนนั้น ส่วนใหญ่ยังคงขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง และการไม่หาประโยชน์จากการประกันภัยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยส่วนใหญ่ในที่สุด ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้กับประชาชนในการบริหารความเสี่ยงของตนเองโดยใช้การประกันภัยเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตเพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยที่ไม่คาดคิด

ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการพัฒนาธุรกิจและวิชาการประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ดำเนินการส่งเสริมการสร้างฐานความรู้ด้านการประกันวินาศภัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดอบรมให้กับบุคลากรในธุรกิจประกันวินาศภัย รวมถึงจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ด้านการประกันวินาศภัยให้กับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดประกวดโรงเรียนต้นแบบด้านการประกันภัยร่วมกับสำนักงาน คปภ. การจัดประกวดสื่อโปสเตอร์อินโฟกราฟฟิกเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการประกันวินาศภัย และการจัดทำคู่มือประกันวินาศภัยไทย ซึ่งถือเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ในเรื่องของการประกันวินาศภัยที่สมบูรณ์และทันสมัยที่สุดของไทยที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถอ่านออนไลน์หรือดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของสมาคมฯ (www.tgia.org)