ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของ COVID-19 ในปัจจุบัน มาตรการให้ทำงานจากที่บ้าน (work from home) และการปิดสถานศึกษาถือเป็นวิธีปฎิบัติที่ถูกใช้เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมในเชิงกายภาพ (social distancing) ในหลายประเทศ เช่น จีน สหรัฐฯ อิตาลี ส่งผลให้ประชากรราว 3 พันล้านคนทั่วโลกต้องกักตัวอยู่บ้าน สำหรับไทย จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) และกระทรวงศึกษาธิการ EIC ประเมินว่า การประกาศมาตรการดังกล่าวส่งผลให้มีประชาชนไทยที่ต้องอยู่บ้านในช่วงกลางวันของวันธรรมดาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคน
จากจำนวนคนที่อยู่บ้านเพิ่มขึ้นในไทยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ data traffic ได้แก่ 1.การใช้อินเทอร์เน็ตกระจายตัวในเขตที่พักอาศัยมากขึ้น 2.การใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เปลี่ยนจากช่วงเย็นหลังเลิกงานเป็นช่วงกลางวัน และ 3.ปริมาณการใช้งานข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ (mobile broadband) พุ่งสูงขึ้นกว่า 17%MOM ขณะที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) เพิ่มขึ้นราว 20%MOM ในมีนาคม 2020
ดังนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้ง mobile broadband และ fixed broadband ควรจะต้องเตรียมความพร้อมออกมาตรการในด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและการบริหารระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมจากการปรับขยายขีดความสามารถในการรับส่งสัญญาณที่ผู้ให้บริการได้ดำเนินการไปแล้วเพื่อรองรับการใช้งานข้อมูลที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤต COVID-19 เช่น การขยายช่องสัญญาณในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น การเพิ่มอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ และการเดินหน้าขยายโครงข่าย 5G และระบบสายใยแก้วนำแสง (FTTX)
ถึงแม้ว่าภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนในด้านการรับบริการอินเทอร์เน็ตได้ทันต่อสถานการณ์ แต่อาจต้องพิจารณามาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้บริการอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงและช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น 1.การให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบ wi-fi สาธารณะ 2.การผ่อนผันการชำระค่าบริการอินเทอร์เน็ต และ 3.การรวบรวมสื่อออนไลน์ทั้งหนังสือพิมพ์และแพลตฟอร์มสื่อการเรียนการสอน
EIC มองว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เปลี่ยนไปในช่วงสถานการณ์ COVID-19 จะกระตุ้นให้แอปพลิเคชันการสื่อสาร เช่น การประชุมออนไลน์ แพลตฟอร์มเพื่อการบันเทิง รวมถึงการให้บริการออนไลน์ เช่น internet banking, food delivery ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มสร้างพฤติกรรมใหม่ของการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอนาคต อีกทั้งการพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลในการสื่อสารที่มากขึ้นขององค์กรธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กระตุ้นให้ไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
ดังนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตควรมีการยกระดับการให้บริการสู่การเป็นดิจิทัลโซลูชัน เช่น การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ควบคู่กับพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ทุกการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบครบวงจร
ผู้เขียน: ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม