New Normal ดูจะเป็นกระแสรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มาแรงในช่วงที่ทั่วโลกยังคงต้องเฝ้าระวังเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ด้วยมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในเวลานี้มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้องตนเองจากโรคระบาด งดการเดินทาง งดกิจกรรมการพบปะ สร้างระยะห่างทางกายภาพ ซึ่งนั่นหมายรวมถึงรูปแบบการทำงาน ส่งผลให้การสื่อสารทางไกลผ่านเทคโนโลยีสื่อออนไลน์ยิ่งทวีความสำคัญและทรงอานุภาพที่สุดในรอบหลายปี เนื่องจากหลายหน่วยงานปรับวิธีการทำงานสู่รูปแบบ Work from anywhere ทำให้เราสามารถพบว่าการสื่อสารระหว่างบุคลากรเพื่อการติดต่อประสานงานมักเกิดขึ้นผ่าน Online conference ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
แต่นั่นก็หมายถึงกิจวัตรที่จะต้องประจำการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวันเพื่อรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน จนเกิดการละเลยที่จะดูแลสุขภาพกายอย่างเช่นการออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสาย ผ่อนคลายจากอิริยาบถเดิม ๆ เป็นเวลานาน ยิ่งไปกว่านั้นคนวัยทำงานในบางกลุ่มอาจต้องเผชิญกับความเครียดจากรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ขณะที่ยังต้องรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่มากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อวัยวะภายในโดยที่เราไม่รู้ตัว
พญ.พรภา ปวีณดำรง ที่ปรึกษา นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สาขาวิชาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ และ RDI มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาแพทย์ผู้วิจัยพบผลการศึกษาบางอย่างซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการวิจัยของแพทย์เอง ซึ่งอาจไม่สามารถอ้างอิงในทางวิชาการได้มากนัก แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของ “ความเครียด” ที่ส่งผลต่อตับ โดยสามารถอธิบายกลไกได้ 3 ข้อ ได้แก่
- กลไกการขาดอ๊อกซิเจน
เนื่องจากความเครียดส่งผลให้เลือดไปหล่อเลี้ยงตับได้น้อยลง ทำให้เกิดการขาดอ๊อกซิเจนในระดับเซลล์ตับลดลงด้วย ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ เป็นพิษทำลายเซลล์ตับ นอกจากนี้ความไม่สมดุลระหว่างอนุมูลอิสระ และสารต้านอนุมูลอิสระ ยังส่งผลให้เกิดความเครียด เกิดการหลั่งสาร TNF-alpha ที่ก่อให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น 4-7 เท่า - กลไกการรั่วเข้าของ Lipopolysacharide
ความเครียดทำให้เกิดการยินยอมในผนังลำไส้ถึง 2 เท่า จึงมีการรั่วเข้าของ Lipopolysacharide และสิ่งแปลกปลอม ยิ่งเพิ่มโอกาสเกิดความเสียหายในตับ - ฮอร์โมนความเครียดถูกกระตุ้นให้หลั่งมากเกินไป
ความเครียดจะกระตุ้นการทำงานของไฮโพทาลามัสและต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมความเครียดออกมาในกระแสเลือดมากกว่าคนปกติ 1.6 เท่า ซึ่งกดภูมิคุ้มกันและทำให้เซลล์ตับอักเสบได้ นอกจากนั้น ความเครียดจะกระตุ้นต่อมหมวกไตให้ Epinephirne และ Norepinephirne ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์ทั้งหลายรวมถึงเซลล์ตับ
นอกจากนี้ แพทย์ผู้วิจัยยังพบข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ มีการเปลี่ยนค่าตับของอาสาสมัครทั้ง 25 คน นั่นคือค่า AST (SGOT) และ ALT (SGPT) ซึ่งส่วนใหญ่มีค่าปริมาณที่สูงขึ้นอย่างน่าแปลกใจเมื่อเทียบค่าตับดังกล่าวระหว่างช่วงก่อนมีมาตรการ Work from home และหลังจากมีมาตรการไปแล้ว 4 สัปดาห์
ค่าเอนไซม์ตับ เปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังจากทำงานที่บ้าน 4 สัปดาห์
จากข้อมูลที่แพทย์ได้ค้นพบอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าแม้ไลฟ์สไตล์การทำงานแบบ New Normal จะดูสะดวกสบาย แต่ความเครียดจากการอยู่ในอิริยาบถเดิมนาน ๆ หรือความเครียดจากสภาวะเศรษฐกิจก็ดีอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพภายในโดยที่เราไม่ทันสังเกตเห็น เพราะฉะนั้นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันง่าย ๆ จากการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ละวางจากการคร่ำเคร่งต่อหน้าที่การงานบ้าง ก็สามารถสร้างสมดุลให้สุขภาพและลดโอกาสการเจ็บป่วยได้อย่างแน่นอน