เมื่อมีครอบครัว ความต้องการมีลูกเพื่อมาเติมเต็มให้เป็นครอบครัวให้สมบูรณ์ จึงเป็นเรื่องที่หลายคนคาดหวัง แต่อีกหลายครอบครัวกลับประสบกับภาวะมีบุตรยาก ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในคู่สามีภรรยายุคใหม่ ดังนั้น การรู้เท่าทันและวางแผนชีวิตคู่ในเรื่องการตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะได้จัดการได้อย่างเหมาะสม ไม่ต้องเสียใจกับคำว่าสายเกินไปที่จะตั้งครรภ์
นพ.ปภากร มิ่งมิตรพัฒนะกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการเจริญพันธุ์และรักษาผู้มีบุตรยาก ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า ภาวะการมีบุตรยาก หรือ ภาวะการมีลูกยาก(Infertility) หมายถึง เมื่อคู่สมรสที่มีความสัมพันธ์ ทางเพศเป็นปกติเป็นเวลา 12 เดือนขึ้นไป แล้วยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น หรือ 6 เดือนขึ้นไปถ้าฝ่ายหญิงอายุมากกว่า 35 ปี โดยในระหว่างนี้ไม่มีการใช้การคุมกำเนิดใดๆ บางคนอาจเคยมีลูกมาแล้ว มีความประสงค์อยากจะมีลูกใหม่ และได้พยายามอยู่นานเกินกว่า 1 ปีก็ยังไม่สำเร็จ กลุ่มนี้ถือว่ามีอาการภาวะมีลูกยากเช่นกัน ต้องพิจารณาตรวจหาสาเหตุและแก้ไขรักษา
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ยากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น รวมถึงโอกาสที่ตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดลดลงนั้นมาจากคุณภาพของไข่เป็นหลัก เพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นเราอาจต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกในการปฏิสนธิของเซลล์สืบพันธุ์(ไข่และตัวอสุจิ)ดังนี้ เซลล์ร่างกายประกอบด้วยโครโมโซมทั้งหมด 46 ชิ้นหรือ 23 คู่ การที่ทารกจะลืมตาดูโลกนั้นมีจุดเริ่มต้นจากเซลล์สืบพันธุ์ (Gamete) ของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเซลล์สืบพันธุ์นี้ก็จะนำเอาสารพันธุกรรมของพ่อและแม่ไปรวมกันเกิดขึ้นเป็นชีวิตใหม่ขึ้นมา กลไกการแบ่งโครโมโซมจาก 46 ชิ้นในเซลล์ร่างกายปกติไปเป็น 23 ชิ้นในไข่นั้น ไม่ได้สมบูรณ์แบบทุกครั้ง หมายความว่าไข่บางใบอาจแบ่งโครโมโซมได้ 23 ชิ้น หรืออาจมากไปเป็น 24 ชิ้น หรืออาจขาดไปเหลือแค่ 22 ชิ้น ดังนั้น เมื่อไข่ใบที่มีจำนวนโครโมโซมไม่ปกติ แม้ไปผสมกับอสุจิที่มีจำนวนโครโมโซมปกติ ตัวอ่อนที่เกิดมาจะมีจำนวนโครโมโซม ไม่ปกติ อาจมากกว่าหรือน้อยกว่า 46 ชิ้น ทำให้ตัวอ่อนแสดงความผิดปกติในหลายรูปแบบ ได้แก่ ตัวอ่อนหยุดการแบ่งเซลล์ตั้งแต่ยังไม่ฝังตัว ตัวอ่อนฝังตัวไม่ได้ ตัวอ่อนฝังตัวได้แต่ไม่สามารถสร้างอวัยวะและเนื้อเยื่อได้ตามปกติหรือท้องลม ตัวอ่อนฝังตัวได้แต่แท้งในระยะต่อมา หรือตัวอ่อนเติบโตจนคลอดออกมา แต่มีความผิดปกติทางร่างกายหรือสติปัญญา ซึ่งอัตราความคลาดเคลื่อนของโครโมโซมในไข่จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้นในแต่ละปี จึงทำให้ผู้หญิงที่มีอายุมากตั้งครรภ์ยาก พลังงานในเซลล์ไข่จะด้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้การแบ่งเซลล์ของตัวอ่อนมีประสิทธิภาพด้อยลง แบ่งเซลล์ได้ช้า มีโอกาสแท้งบุตรสูงขึ้น และมีโอกาสการคลอดบุตรที่เป็นดาวน์ซินโดรมตามอายุที่มากขึ้น ตัวเลขการตั้งครรภ์จึงลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
การมาพบแพทย์เพื่อเริ่มตรวจหาสาเหตุภาวะมีบุตรยาก แพทย์จะเริ่มซักประวัติเบื้องต้นทั่วๆ ไป เช่น การคุมกำเนิดที่เคยใช้ ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ ประวัติประจำเดือน (ซึ่งจะช่วยบอกว่าฝ่ายหญิงนั้นมีปัญหาไข่ไม่ตกหรือไม่) ประวัติการผ่าตัด โรคประจำตัว และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงประวัติทางฝ่ายชายที่อาจช่วยบอกถึงคุณภาพของน้ำอสุจิ ได้แก่ ประวัติการเป็นคางทูม การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา เป็นต้น จากการซักประวัติเบื้องต้นจะเป็นแนวทางที่ดีในการสืบค้นหาสาเหตุต่อไป การจดหรือจำประจำเดือนประมาณ 3 – 6 เดือนก่อนพบแพทย์จะช่วยในการตรวจรักษาที่ดีขึ้น จากนั้นจะเป็นการตรวจเลือดทั่วไป ได้แก่ การตรวจเอดส์ ซิฟิลิส และตับอักเสบบี ซึ่งโรคเหล่านี้จะมีผลต่อทารกในครรภ์ได้ รวมทั้งอาจตรวจหาพาหะโรคเลือดจางธาลัสซีเมียในคู่สมรสที่สงสัยว่าอาจเป็นพาหะ การตรวจทั้งหมดนี้แนะนำให้ตรวจพร้อมกันทั้งสามีและภรรยา
นพ.ปภากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีวิธีที่ช่วยให้สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างที่ต้องการมากขึ้น เช่น 1.การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF – In Vitro Fertilization) โดยการนำไข่และเชื้ออสุจิที่สมบูรณ์ออกมาผสมด้านนอกหรือในจานแก้วที่มีสารเลี้ยงตัวอ่อนทำให้เกิดการปฏิสนธิ จากนั้นจะเกิดตัวอ่อนในระยะที่สมบูรณ์ พร้อมนำกลับไปใส่ในโพรงมดลูกเพื่อฝังตัวและเติบโตในครรภ์ พร้อมที่จะตั้งครรภ์ต่อไป 2.การทำอิ๊กซี่ (ICSI – Intracytoplasmic Sperm Injection) จากปัญหาตัวอสุจิของคุณผู้ชายบางคนมีความผิดปกติจนไม่สามารถเจาะผ่านเปลือกไข่ได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาวิธีใช้เข็มเจาะและส่งตัวสุจิที่ดีที่สุดผ่านเปลือกไข่เข้าไปภายในเนื้อไข่โดยตรงในเวลาต่อมา โดยจะมียาฮอร์โมนช่วยกระตุ้นให้ได้ไข่หลายใบ วิธีนี้มีขั้นตอนคล้ายการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) แต่แตกต่างตรงที่ IVF ไข่และอสุจิหลายตัวจะถูกนำไปผสมในจานเพาะเลี้ยง ซึ่งอสุจิจะว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่ตามธรรมชาติ แต่ ICSI จะคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงเพียงหนึ่งตัว แล้วใช้เข็มฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง
นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองโครโมโซมในตัวอ่อนเพื่อช่วยคู่สมรสที่มีปัญหา เช่น กลุ่มที่ฝ่ายหญิงมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป หรือเคยมีภาวะแท้งติดกันตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป หรือคุณแม่ที่เคยคลอดบุตรที่มีโครโมโซมผิดปกติ หรือคู่สมรสที่ได้รับการตรวจพิสูจน์แล้วว่ามีลักษณะการเรียงตัวของโครโมโซมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดปกติ(Chromosomal translocation) เป็นต้น เนื่องจากโครโมโซมที่ผิดปกติในตัวอ่อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้นเป็นสาเหตุของการแท้งและความพิการแต่กำเนิดในทารกซึ่งพบมากขึ้นในกลุ่มประชากรดังกล่าว ดังนั้นการตรวจคัดกรองโครโมโซมในตัวอ่อนจึงเป็นวิธีที่จะช่วยคู่สมรสประสบความสำเร็จในการมีบุตรสมดังตั้งใจโดยไม่ต้องเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนและผลไม่พึงประสงค์ในอัตราสูงดังเช่นในอดีต
ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก รพ.กรุงเทพ พร้อมให้การดูแลทุกท่านด้วยแพทย์ที่มีความชำนาญและทีมสหสาขาวิชาชีพที่มากด้วยประสบการณ์ และมีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่ทันสมัย ได้มาตรฐานในระดับสากล เพื่อผลลัพธ์ในการตั้งครรภ์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก รพ.กรุงเทพ โทร. 02-310-3014-15 Contact Center โทร. 1719 หรือ add line ID : @bangkokhospital