สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และ สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน ในการเป็นองค์กรรับรองที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลให้มีมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจโฆษณาและประชาสัมพันธ์ สาขาประชาสัมพันธ์ โดยได้กำหนด อาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์ 6 อาชีพ ได้แก่ (1) นักสื่อสารองค์กรสัมพันธ์ (2) นักสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ (3) นักประชาสัมพันธ์ออนไลน์ (4) นักสื่อสารกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ (5) นักวิจัยและประเมินผลการประชาสัมพันธ์ และ (6) นักบริหารการประชาสัมพันธ์ เมื่อจัดคุณวุฒิแล้ว จะมี 14 ระดับคุณวุฒิ รวมทั้งสิ้น โดยมี สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย เป็นองค์กรรับรอง เพื่อเป็นการสร้างให้เกิดความเข้มแข็งตามมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้ใช้การอ้างอิงตาม ISO/IEC 17024 มาตรฐานสากลในการรับรอง “สมรรถนะของบุคคล” ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2554 มีหน้าที่ในการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ส่งเสริมให้คนในอาชีพจัดทำมาตรฐานอาชีพ ดำเนินการรับรองบุคคลแต่ละอาชีพมีมาตรฐานตามข้อกำหนดต่างๆ ที่กำหนดไว้ ตามกรอบความเชี่ยวชาญ ความเป็นมืออาชีพ เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็ง มีมาตรฐาน โดยในส่วนของการรับรองมาตรฐาน อ้างอิงตาม ISO/IEC 17024 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในการรับรอง “สมรรถนะของบุคคล” ซึ่งหน่วยงานเป็นจำนวนมาก ทั่วโลกให้ความเชื่อมั่น เป็นการยอมรับตามกรอบข้อตกลงร่วมกันขององค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องของการรับรองดังกล่าว รวมถึงจากความร่วมมือตามกรอบคุณวุฒิอาชีพในอาเซียน อีกด้วย
ในส่วนของ อาชีพสาขาประชาสัมพันธ์ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) Thailand Professional Qualification Institute (Public Organization): TPQI ได้ร่วมหารือ กับ สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย Thailand Public Relations Association: PRTHAILAND สถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2562 เพื่อวางกรอบการดำเนินการ “โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจโฆษณาและประชาสัมพันธ์ สาขาประชาสัมพันธ์” ตามกระบวนการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิ โดยมี มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่ปรึกษาจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจโฆษณาและประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะในส่วนของสาขาประชาสัมพันธ์นั้น ทั้งการประสานงานหน่วยงาน บุคลากรที่เกี่ยวข้อง การศึกษาวิจัย การค้นคว้าทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ การกำหนดเกณฑ์มาตรฐาน การประเมิน การออกข้อสอบ แบบสัมภาษณ์ แบบปฏิบัติ การประเมินผล การจัดประชาพิเคราะห์ จนแล้วเสร็จเมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 เพื่อเปิดให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอาชีพดังกล่าวเข้ามารับการประเมินจากองค์กรรับรองสมรรถนะ และรับใบประกาศนียบัตรของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
ทั้งนี้เพื่อดูแลสมรรถนะอาชีพของประเทศไทย ตามระดับคุณวุฒิวิชาชีพที่ครอบคลุม (Professional Qualification included) โดยสรุป ได้แก่
(1) นักสื่อสารองค์กรสัมพันธ์ ระดับคุณวุฒิ 3, 4, 5 และ 6
นักสื่อสารองค์กรสัมพันธ์: ผู้ที่ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารทั้งภายนอกและภายในองค์กร โดยใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ สื่อสาร เผยแพร่ และสร้างการมีส่วนร่วมให้เหมาะสมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่ม รวมถึงการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(2) นักสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ ระดับคุณวุฒิ 4 และ 5
นักสร้างสื่อประชาสัมพันธ์: ผู้ที่ทำหน้าที่ออกแบบแนวคิดการสร้างสรรค์งาน ถ่ายทอดรูปแบบจากความคิดออกมาเป็นผลงานสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่ผู้อื่นสามารถมองเห็น รับรู้ หรือสัมผัสได้ เพื่อให้มีความเข้าใจในผลงานร่วมกัน และสร้างสรรค์สื่อที่มีคุณภาพ เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย
(3) นักประชาสัมพันธ์ออนไลน์ ระดับคุณวุฒิ 4 และ 5
นักประชาสัมพันธ์ออนไลน์: ผู้ปฏิบัติงานสื่อสารออนไลน์ เฝ้าระวังติดตามข้อมูลประเด็นทางสังคมต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อองค์กร เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนสามารถออกแบบ แก้ปัญหาได้ด้วยการใช้สื่อใหม่ได้อย่างถูกต้อง และใช้จริยธรรมในการประกอบอาชีพ
(4) นักสื่อสารกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ ระดับคุณวุฒิ 5 และ 6
นักสื่อสารกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์: ผู้ที่สื่อสารด้วยการบูรณาการ ปรับใช้องค์ความรู้หรือนวัตกรรมในอาชีพ วิเคราะห์ กำหนดกลวิธี โดยใช้ทักษะการจัดการกลยุทธ์ตามวัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุง แก้ไข พัฒนาศักยภาพให้ได้สูงสุด
(5) นักวิจัยและประเมินผลการประชาสัมพันธ์ ระดับคุณวุฒิ 5 และ 6
นักวิจัยและประเมินผลการประชาสัมพันธ์: ผู้ที่ใช้ทักษะในการวิเคราะห์ วางแผน การออกแบบแนวทางการประเมินผลทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการประชาสัมพันธ์ด้วยเกณฑ์ที่ถูกต้อง รวมถึงสามารถกำหนดโจทย์ ประเด็น ขอบเขต สร้างกระบวนการ และดำเนินการตามระเบียบวิธีวิจัย เพื่อหาเหตุผล คำตอบที่ชัดเจน
(6) นักบริหารการประชาสัมพันธ์ ระดับคุณวุฒิ 6 และ 7
นักบริหารการประชาสัมพันธ์: ผู้บริหารที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ และตีความ เพื่อมอบหมายตามแผนกระบวนการการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมขององค์กร ประเมินและวินิจฉัยปัญหาอย่างเป็นระบบ ปรับปรุง แก้ไข พัฒนาการประชาสัมพันธ์และสามารถแก้ปัญหาในบริบทที่มีความซับซ้อน พัฒนาองค์ความรู้เพื่อนวัตกรรมใหม่ในงานอาชีพ และเป็นแบบอย่างหรือผู้นำในการประกอบอาชีพ
ทั้งนี้ ภายใต้บันทึกข้อตกลง ดังกล่าว สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และ สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย จะได้ร่วมกันดำเนินการสนับสนุนการประเมินสมรรถนะ เพื่อรับรองคุณวุฒิวิชาชีพประชาสัมพันธ์ โดยจะได้เริ่มเปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการพิจารณาเพื่อประเมินสมรรถนะ เพื่อรับรองคุณวุฒิวิชาชีพประชาสัมพันธ์ ในสาขาวิชาชีพดังรายละเอียดข้างต้น ให้กับผู้สนใจ สำหรับรายละเอียดของอาชีพที่เปิดการรับสมัครให้เข้ารับการประเมิน รูปแบบ ขั้นตอนของการรับรองมาตรฐานให้กับผู้ที่ประกอบอาชีพทางด้านประชาสัมพันธ์ สมาคมประชาสัมพันธ์ไทยจะได้ประกาศให้ทราบในลำดับต่อไป
ผู้สนใจ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย เลขที่ 62 ชั้น 17 อาคารเดอะมิลเลนเนีย ห้อง 1707 ถนนหลังสวน ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทรศัพท์ 02-651-8989 อีเมล์ tpqi.prthailand@gmail.com, www.prthailand.com