นายประธาน ธีระธาดา บรรณาธิการนิตยสาร art4d และกรรมการตัดสินรางวัล DEmark เล่าถึงงานออกแบบช่วงเริ่มโครงการ “จากยุคเริ่มต้นของงานประกวดการออกแบบโครงการ DEmark Award ที่ชิ้นงานมีความโดดเด่นในด้านงานฝีมือ Craft Modern Design เป็นเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมของไทย ช่วงนั้นผลงานที่ออกแบบให้โรงแรมและสปาจะได้รับความนิยม จนกระทั่งมีการพัฒนามาถึงงานที่ต้องมี Innovation เพื่อตอบรับกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ทุกเรื่องราวของงานออกแบบล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเล่าซ้ำๆ เกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภคแทบทั้งสิ้น”
ผลงานเมื่อก่อน เราคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นอันดับแรก ต้องสวยงาม ต้องมีประโยชน์ใช้สอยพร้อมด้วยคุณค่า และตอบโจทย์การตลาด โดยที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ แต่เมื่อถึงวันที่จังหวะของธรรมชาติมาเตือน… สุขภาพ ความยั่งยืน และธรรมชาติ จะเป็นเรื่องเล่าเรื่องใหม่ที่ทุกคนต้องหันมาฟัง เพราะมันเป็นเรื่องของทุกคน
ในฐานะของกรรมการตัดสินงานออกแบบ โดยส่วนตัวคิดว่า โจทย์อันดับแรกของงานออกแบบ ทุกวันนี้คือเราอยากให้นักออกแบบมองว่า งานชิ้นนี้ต้องไม่ทำลายธรรมชาติ ดีไซน์เนอร์ต้องอธิบายได้ ว่างานของคุณสวย โดยไม่ทำลายธรรมชาติได้อย่างไร มันเป็นโจทย์บังคับโดยปริยาย
นอกจากนี้ แนวโน้มของการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถดึงให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมใน กระบวนการผลิตได้ จะเป็นที่น่าสนใจ เพราะผู้บริโภคยุคใหม่สนใจใคร่รู้ที่มาทิ่ไปของผลิตภัณฑ์ ถ้ายิ่ง สามารถตามไปหาและได้รู้เห็นไปถึงแหล่งผลิตว่าไม่ได้ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะยิ่งชื่นชมและ ยินดีจ่าย เพราะเม็ดเงินที่จ่ายไปมันคือคุณค่าที่เรามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและอนุรักษ์ รับรู้ได้ทั้งต่อ ตนเอง ต่อสังคมและชุมชน
สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่ม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดโครงการพิจารณาคัดเลือกสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ปี 2563 หรือ Design Excellence Award 2020 (DEmark) เพื่อส่งเสริมผลงานที่โดดเด่นด้านการออกแบบ และยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายในตลาดโลก ด้วยแนวคิด Circular Design, Cycle of Life ดีไซน์หมุนเวียนเปลี่ยนโลก โดยเปิดรับสมัครนักออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก เข้าร่วมโครงการ จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
ความคิดเห็นของกรรมการ และ นักออกแบบผู้ผ่านเวทีประกวดผลงานออกแบบระดับสากล มีความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดของการประกวดโครงการ DEmark Award ในปีนี้
กับคำถามที่ว่า ศิลปะ กับ ขยะ มันเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร เขามองว่า “ขยะ” คือทรัพยสิน เมื่อ ของที่ควรเป็นขยะ แต่เราไม่ปล่อยให้เป็นขยะ มันจะกลายเป็นของที่มีมูลค่า แต่มันจะดีมากกว่า ถ้าเราไม่สร้างขยะให้เกิดเพิ่มขึ้นอีก ที่สำคัญ เราไม่ควรให้เกิดของเหลือใช้ ตัวอย่าง นักเดินทางคนเดียว เมื่อเข้า พักในโรงแรม ก็จะได้เจอกับ สบู่ แชมพูสระผม ที่ทางโรงแรมจัดเตรียมให้เป็นขวดเล็กๆ ซึ่งสำหรับคนคนเดียวใช้ไม่หมด มันเสียของ งานออกแบบก็จะเข้ามามีส่วนช่วยเพื่อไม่ให้มีของเหลือทิ้ง อีกหน่อยคงต้อง หันมาปรับการออกแบบเป็นแบบกดใช้ให้พอเหมาะในแต่ละครั้ง จะเห็นได้ว่า พอพฤติกรรมคนเปลี่ยน มีจิตสำนึกร่วมมากขึ้นกับชุมชนกับสังคม งานออกแบบก็ต้องปรับไปด้วย และนี่คือแนวคิด Circular Design เขาขยายความคิดกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติ COVID-19
นายประธานให้มุมมองว่า “ในฐานะนักออกแบบ เราต้องเตรียมตัว สำหรับ Post COVID เราต้องเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบกับชีวิต ความเป็นอยู่ของมนุษย์ เข้าใจถึงความต้องการของคน ซึ่งช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะผู้คนกำลังตกใจ และไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร ถ้าเราสามารถเสนอทางเลือกให้กับผู้คนได้เราจะเป็นผู้นำตลาด ใครคิดได้ก่อน มีโอกาสรวยก่อน เพราะโลกกำลังหาแนวทางใหม่เพื่อความอยู่รอด”
ดังนั้นเราควรเน้นสร้างผลงานที่ส่งผลต่อการมีชีวิตและมีสุขภาพที่ดี อยู่ในสังคมสภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพ ทำลายธรรมชาติให้น้อยที่สุด โครงการ DEmark Award ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมผลงานที่โดดเด่นด้านการออกแบบ และยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ ยอมรับแพร่หลายในตลาดโลกปีนี้ด้วยแนวคิด Circular Design, Cycle of Life ดีไซน์หมุนเวียนเปลี่ยนโลก จะช่วยกระตุ้นให้กระแสการดูแลรักษาโลกใบนี้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น มันจะเป็นเรื่องเล่าอีกเรื่องที่เราควรต้องช่วยกันสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงเป็นวงกว้าง และเราต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน นายประธานกล่าวสรุป
นายชินภาณุ อธิชาธนบดี Design Director จาก Trimode Studio นักออกแบบที่มุ่งกระบวนการค้นหาความไม่ธรรมดาจากสรรพสิ่งสามัญ ให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจ “การคำนึงถึงเรื่องการลดความสิ้นเปลืองในการใช้ทรัพยากรเป็นเรื่องที่อยู่ในความคิดของผมตลอด ผมอยากสร้างผลิตภัณฑ์จากสิ่งเดิมๆ ให้เป็นสิ่งใหม่ โดยผ่านกระบวนการทางความคิดที่ลดทอนกระบวนการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร ลดทอนการใช้งาน ง่ายๆ คือ ใช้ของเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีประโยชน์สูงสุด มันเป็นบทบาทของนักออกแบบที่ต้องทำให้เกิดขึ้น เพื่อให้คนนำไปใช้ เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันในการลดการใช้ทรัพยากร”
ชินภาณุเล่าว่า “ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้พยายามคิดสร้างสรรค์งานเพื่อสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ในที่สุดก็พบว่าสิ่งใหม่เหล่านั้น มันคือสิ่งเดิมๆ ที่ได้ผ่านประบวนการคิดค้นและผลิตมาแล้ว แต่เราควรทำอย่างไรเพื่อที่จะเอาสิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่แล้วมาใช้มาเปิดกระบวนการใหม่ที่ทำให้เกิดความสวยงาม ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างงานออกแบบชิ้นหนึ่งของผมที่ทำจากวัสดุอลูมิเนียม พิจารณาในแง่ของ Functional ประโยชน์ใช้สอยหรือหน้าที่ของวัสดุเราจะเอามาทำอะไรได้อีกบ้าง และก็มองในด้านของ Emotional ว่าสามารถเอามาสร้าง
มุมมองอะไรใหม่ๆ ได้บ้าง มันจึงเกิดงานออกแบบกรุผนังจากลายเส้นอลูมิเนียมที่ทำให้เกิดความรู้สึกกระฉับกระเฉง มีพลัง เชื่อมโยงกับพื้นที่ทั้งหมดได้ เพียงแค่พลิกแง่มุมที่เคยถูกซ่อนเร้นปกปิดเอามาเผยให้เห็นความสวยงามของอีกด้านนึง ผมมองจากข้างในออกมาข้างนอก มองให้รอบแล้วเอามาคิดสร้างสรรค์ใหม่ เราจะได้ประโยชน์จากว้สดุนั้นอย่างเต็มที่”
เมื่อก่อน เราไม่ได้คิดแบบนี้ แต่เนื่องจากทุกวันนี้สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไป เราเห็นผลกระทบที่เกิดมันรุนแรงมากขึ้น ผมเริ่มคิดว่าจากเดิมที่เอาสมอง 100% มาคิดเรื่องการเสนอความสดใหม่ในการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ต่อไปนี้ขอแบ่งสัก 30-40% มาใช้ในการสร้างสรรค์การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราจะคิดถึงการใช้ประโยชน์จากสิ่งธรรมดาสามัญ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร
งานดีไซน์ ที่มุ่งเน้นแต่ในเรื่องของความสวยงามอย่างเดียวจะไม่ได้รับความสนใจอีกต่อไป เราต้องให้ความใส่ใจกับงานออกแบบเพื่อให้เป็นประโยชน์ที่จำเป็นมากกว่าความสวยงาม และเกี่ยวข้องกับเรื่องของการลดการใช้ทรัพยากรด้วย ซึ่งมันคือ Circular Design
โครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ประจำปี 2563 ( Design Excellence Award : DEmark 2020) ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ปีนี้จัดตามแนวคิด “Circular Design, Cycle of Life ดีไซน์หมุนเวียน เปลี่ยนโลก” น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักออกแบบหันมาคำนึงถึงสิ่งรอบๆ ตัวมากขึ้น และคาดว่าจะมีผลงานที่น่าสนใจหลายชิ้น
ปัญหาวิกฤติโควิด19 จะส่งผลกับงานออกแบบอย่างไร
ชินภาณุให้ความเห็น “ในขณะที่เรากำลังมีปัญหา เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ผมมองว่า สิ่งที่จำเป็นตอนนี้ คือการบริหารจัดการเรื่องอาหาร มีผู้คนสั่งอาหารออนไลน์และให้คนมาส่งมากมาย สิ่งที่
ผู้บริโภคต้องการคือความสะอาดและปลอดภัยตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจัดส่ง อาหารจะได้รับการบรรจุในภาชนะหลายชั้นกันรั่วไหลและเพื่อความสะดวกในการจัดส่ง ซึ่งผมเห็นความสิ้นเปลืองในกระบวนการเหล่านี้ ทุกๆวัน คุณจะเห็นเศษภาชนะ หีบห่อ พลาสติก ถุง ที่บรรจุอาหารมากมายที่ผู้คนทิ้งออกมา เราควรจะทำอย่างไรเพื่อที่จะไม่ให้เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรเหล่านี้ มันเป็นโจทย์ที่ผมพยายามคิด และคิดอยู่ ทุกวัน ในฐานะนักออกแบบเราควรต้องคิดในเรื่องของหาการวิธีการบรรจุอาหารอย่างไรให้ถึงมือผู้บริโภคได้โดยใช้ทรัพยากรให้สิ้นเปลืองน้อยที่สุด
งานออกแบบ จะต้องเปลี่ยนไป หลังจากที่เราเผชิญวิกฤติปัญหาธรรมชาติเอาคืนด้วยไวรัสโควิด ต่อไปคนจะคำนึงถึงเรื่องการออกแบบพื้นที่การใช้งานมากขึ้น พื้นที่แออัด หรือการใช้พื้นที่ส่วนรวมใน อนาคตคงไม่ใช่คำตอบ ตัวอย่างเช่น การดีไซน์พื้นที่ในร้านอาหาร ที่ต้องพิจารณาเรื่องของระยะห่าง ของโต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น หรือพื้นที่ในการทำงานในสำนักงาน co working space ต่อไปคงไม่เป็นที่นิยม เราต้องคิดในฐานะนักออกแบบว่าจะช่วยกันได้อย่างไร ในขณะที่ต้องมองในเรื่องของการลดใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองด้วย”
“อีกเรื่องที่ผมได้คิด คือการคิดถึงปัญหาของคนอื่น ถ้าเราคิดถึงแต่เรื่องของเราหรือปัญหาของเรา เราจะไม่ได้พัฒนาความคิด แต่ถ้าเรามองออกไปรอบๆ มองว่าคนรอบข้างเจอปัญหาอะไร แล้วเค้าต้องการอะไร เรายื่นมือไปช่วยเค้าได้หรือเปล่า ตอนนี้ผมคิดว่างานออกแบบของผมไม่ใช่เพียงเพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่ผมอยากออกแบบงานเพื่อช่วยคนที่มีปัญหาก่อน หลุดจากความคิดให้ตัวเอง มาคิดให้สังคม มันรู้สึกมีคุณค่ามากกว่า”
“ถ้าเราออกแบบสร้างแบรนด์ แต่ไม่ได้คิดเลยว่าแบรนด์นั้นจะช่วยสังคมได้อย่างไร ผมถือว่าเรา ล้มเหลว อย่างตอนที่ผมทำร้านคาเฟ่ผมคิดถึงชุมชนรอบๆข้างคิดถึงความเป็นอยู่ของคนเหล่านั้นว่าเราช่วย อะไรกันได้บ้าง ถ้าคนรอบข้างอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน”
เมื่อเกิดสถานการณ์ที่วิกฤต เราจะมองเห็นปัญหาจากสิ่งที่ใกล้ตัวมากขึ้น ดังนั้นเราต้องมีพลังสร้างสรรค์ มีเวลาเราต้องลุย เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด ไม่เช่นนั้นเราเองที่จะเป็นคนที่ไปก่อนใครเลย” ชินภาณุ สรุปด้วยการให้กำลังใจตนเองและผู้อื่น ให้สู้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
นายอภิรัฐ บุญเรืองถาวร Freelance Designer จาก Fischer Mobel, Index Living Mall, VIN, VATIN, +SENSE และ Hawaii Thai นักออกแบบผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน ผู้ที่นำแนวคิดออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำวัสดุเหลือใช้ มาสร้างคุณค่า ได้รับรางวัลด้านดีไซน์ทั้งในและต่างประเทศมากมายกว่า 40 รางวัลอาทิ IF Design Award, รางวัล G-Mark, รางวัล FDA Grand Award, รางวัล Designer of the Year ปี 2009 ในสาขาเฟอร์นิเจอร์, รางวัล DEmark Award ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และหมาดๆ รางวัล German Design Award 2020 ที่กวาดมาถึง 4 รางวัล
“มุมมองของงานออกแบบหลังจากนี้ต้องเปลี่ยนไป มันจะไม่ใช่แค่รูปแบบและความสวยงามเท่านั้น แต่มันจะมีปัจจัยอื่นที่เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคุณค่าของงานออกแบบที่เราต้องคำนึงถึง ซึ่งเราต้องมองให้ครบ ทั้ง 5 เหลี่ยมองค์ประกอบ คือในด้านของ นวัตกรรม Innovation การใช้งาน Functionality การตลาดและความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ Positioning อารมณ์ความรู้สึก Aesthetics และขาดไม่ได้คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม Responsibility” อภิรัฐให้ความเห็น
งานดีไซน์ที่สามารถสร้างเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง สามารถใช้งานได้นาน คุ้มค่า ถีอว่างานชิ้นนั้นมีคุณค่า สร้างความยั่งยืนได้ เพราะเราไม่ต้องสร้างบ่อยๆ ไม่ต้องทำลายวัสดุ และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสูญเสียหรือมลพิษ และงานออกแบบไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่เกิดขึ้นจากการเอาสิ่งใหม่มาทำ แต่เรามองว่า การดีไซน์ที่ดี ด้องไม่ก่อให้เกิดการทำลาย
อภิรัฐกล่าวเสริมอีกว่า ในมุมมองส่วนตัวคิดว่า Circular Design เป็นแนวคิดที่ดีมากสำหรับโลกใบนี้ของเราที่สามารถช่วยกันลดขยะ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของการใช้วัสดุเพื่อการผลิต แต่มันก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของ คำว่า “Good Design” งานดีไซน์บางชิ้นงานมีคอนเซปต์ที่ดีมากแต่ก็ยังไปไม่ถึงการสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ดีได้ ต่อไปองค์ประกอบในการตัดสินรางวัลของงานออกแบบจึงต้องบูรณาการและมองให้ครบ 360 องศา ซึงเขามองว่า ถ้ามีงานดีไซน์ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาได้ครบทั้ง 5 เหลี่ยมองค์ประกอบ มันจะเป็น Timeless Design ของโลกเลยทีเดียว
โครงการพิจารณาคัดเลือกสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ปี 2563 หรือ Design Excellence Award 2020 (DEmark) เพื่อส่งเสริมผลงานที่โดดเด่นด้านการออกแบบ และยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายในตลาดโลก ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ถือเป็น โครงการพี่เลี้ยงของนักออกแบบไทยมุ่งสู่ตลาดสากลที่ทำมาปีนี้เป็นปีที่ 13 แล้ว ใจผมอยากให้แบรนด์ไทยโด่งดังเป็นที่รู้จัก ยกระดับแบรนด์ไทยเป็น International Brand และอยากให้ตราโลโก้ DEmark เป็นรางวัลของประเทศไทยที่ต่างชาติต้องการเข้ามาสมัครเพื่อรับรางวัลนี้ ดังนั้น เราทุกคนจึงต้องช่วยกันยกระดับและพัฒนานักออกแบบให้มีมุมมองที่ครอบคลุมมากขึ้นเพื่อให้ความงามมีความเป็นสากล จึงขอเชิญชวนนักออกแบบไทยให้เข้ามาร่วมโครงการ คัดเลือกสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ปี 2563 หรือ Design Excellence Award 2020 (DEmark) กับแนวคิด Circular Design, Cycle of Life ดีไซน์หมุนเวียนเปลี่ยนโลก ที่ตรงกับแนวโน้มและความต้องการของ “โลกเรา”
การที่ผมได้รับรางวัล DEmark ทำให้ผมได้เปิดมุมมองและได้ประสบการณ์ แบรนด์ของตัวเองได้รับการยอมรับ พบโอกาสในการได้ร่วมงานกับต่างประเทศ ที่สำคัญได้สร้างชิ้นงานที่สวยงามและมีคุณค่าต่อโลกใบนี้ ซึ่งผมคิดว่าต่อจากนี้ไป งานออกแบบที่ดีคือ “งานที่ทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้น” ไม่ใช่งานที่ทำเพื่อกิเลส อีกต่อไป อภิรัฐสรุป
นายทรงวุฒิ ทองทั่ว Creative Director แบรนด์ Renim Project บริษัท บางกอก แอพพาเรล จำกัด ดีไซเนอร์คนไทยผู้นำแนวคิด ‘รีนิม โปรเจค’ (Renim Project) สร้างสรรค์แรงบันดาลใจจากขยะ ถุงปูนและคนงานก่อสร้าง ผู้ที่นำยีนส์เก่า เสื้อผ้ามือสอง ขยะที่คนไม่เห็นค่า นำมาชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ผ่าน กระบวนความคิดสร้างสรรค์ จนมาเป็นแฟชั่นเฉพาะสำหรับ “คนที่เห็นคุณค่าของความแตกต่าง”
ทำไมต้องเป็น Renim Project
ทรงวุฒิขยายความว่า “Renim มาจาก Denim คือยีนส์ ที่มาพร้อมกับแนวคิดที่ต้องการสร้างความยั่งยืน ให้กับวงการแฟชั่น ด้วยการนำเอาหลักของการ Remade – Reduce – และ Redesign มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ที่ดูสนุก มีพลัง และเป็นผลงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพราะตระหนักดีว่าโลกเรากำลังถูกทำลาย เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อรักษาสมดุลย์ และมันต้องเริ่มจากตัวเราก่อน”
10 ปีที่อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ได้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมากมาย เมื่องาน Mass Fashion เข้ามามีบทบาท เกิดการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ต้นทุนต่ำขึ้นมาอย่างมาก แฟชั่นมาเร็วไปเร็ว การบริโภคผ่านทาง online platform เร่งขายของ เร่งการผลิตทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง มีการย้อมสีมีการใช้วัสดุที่คุณภาพไม่ดีโดยไม่ได้คำนึงถึงมลพิษที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตมากมายนั้น สินค้าบางอย่างเราก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ มันจึงเกิดขยะมากขึ้น
“เราคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้มันเริ่มไม่ใช่ ทุนนิยมกำลังทำลายอะไรบางอย่างที่สวยงามไป ถึงมองกลับไปที่จุดเริ่มต้นว่าการเอาของที่มีอยู่แล้วนำมาใช้ซ้ำเพื่อให้เกิดคุณประโยชน์สูงสุด เราไม่อยากทำของใหม่ ถึงแม้ว่าการสร้างสินค้าใหม่จากวัสดุเก่าจะต้องมีกระบวนการที่มากมาย ใช้เวลา และซับซ้อนกว่าเดิม แต่ผลที่ได้มันคือ “คุณค่า” ที่มาพร้อมกับ “ความงาม” ของสินค้า เราใช้กางเกงยีนส์ใช้แล้ว 4 ตัว แกะออกมาแล้วทำใหม่ได้ 1 ตัว เป็นงานที่มีกระบวนการและใช้เวลาอย่างมากแต่เราก็ภูมิใจกับผลงานที่ได้ เพราะมันไม่เกิดของเสียหรือขยะที่ต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย
เราจับกลุ่มนิช กลุ่มลูกค้าที่สนใจในเรื่องของการรักษ์โลก คนรุ่นใหม่ที่มองหาการมีส่วนร่วมในการดูแลสภาพแวดล้อม คนที่กำลังมองหาความแตกต่าง คนที่ต้องการอะไรที่ไม่เหมือนใคร บางคนมองหาของชิ้นเดียวที่มีในโลกและไม่ซ้ำกับใคร มันคือผลงานการออกแบบของเรา” ทรงวุฒิขยายความ
ทรงวุฒิ ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า “สิ่งที่นักออกแบบควรคำนึงถึงในการสร้างสรรค์ผลงาน คือการสร้างสไตล์ หรือ แบรนด์ให้ชัดเจน ทำอย่างไรให้เกิดคุณค่าของผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่า สร้างของดีมีคุณภาพ และควรต้องสื่อสารอย่างไรให้ถูกช่องทางตรงกลุ่มเป้าหมาย”
เห็นได้จากผลงานล่าสุดกับคอลเลคชั่น ยีนส์เก่า เสื้อผ้ามือสอง ขยะที่คนไม่เห็นค่าผ่านกระบวนความคิดสร้างสรรค์ ที่ประสบความสำเร็จจนมาเดินท้าสายตากลางรันเวย์ในสัปดาห์แฟชั่นลอสแองเจลิส (LA Fashion Week 2019) งานสัปดาห์แฟชั่นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในนครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย โดย Renim Project เป็นหนึ่งในแบรนด์ไทย จากดีไซเนอร์ทั้งหมด 4 คน ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงแฟชั่น
สำหรับโครงการ DEmark Award 2020 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ในปีนี้ จัดขึนภายใต้คอนเซปต์ Circular Design, Cycle of Life ดีไซน์หมุนเวียนเปลี่ยนโลก มันเหมาะมากตรงกับแนวโน้มของการดูแลรักษาโลกใบนี้ให้น่าอยู่ ทรงวุฒิมีความเห็นว่า “เราควรสร้าง Identity ของการออกแบบของประเทศไทยเราให้ชัดเจน ให้นักออกแบบมองภาพรวมสามารถใช้ศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ได้โดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมด้วย สำหรับผลกระทบด้านการผลิตและการตลาด ถ้า Designer จับมือกับ Factory ได้ ก็จะช่วยทำให้ต้นทุนผลิตถูกลง” “คนทีเข้าใจก็จะรู้ว่า เรากำลังทำลายธรรมชาติ และธรรมชาติก็กำลังจะเอาคืน เราต้องช่วยกันรักษาและพยายามให้คนใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติให้น้อยลง ไม่ตัดไม้ ไม่ต้องปลูกฝ้ายเพิ่มขึ้น ใช้ของเก่าที่มีอยู่สร้างสรรค์ให้มันสนุก มองไปรอบๆ ตัวเรา มันยังมีอะไรให้เราสร้างสรรค์ออกมาได้อีกเยอะเลย โดยไม่ต้องไปรบกวนธรรมชาติ” ทรงวุฒิสรุป